ข่วงเกษตร การดูแลกล้วยไม้ในฤดูฝน (2)

B9

จากตอนที่แล้ว ในช่วงฤดูฝนดูเหมือนว่ากล้วยไม้จะมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและแข็งแรงดี แต่เมื่อมองให้ดี จะมีปัญหาอุปสรรค์มากมายเกี่ยวกับโรคพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน่าอันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่เปียกชื้น เป็นระยะเวลายาวนานตลอดจนความร้อนอบอ้าวของสภาพโรงเรือนที่เลี้ยงจะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมาดูแลเอาใจใส่ให้มากกว่าปกติและหาทางป้องกันไว้ก่อนที่สายเกิน ซึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังมีเรื่องการให้น้ำ ส่วนการให้ปุ๋ย ปุ๋ยกล้วยไม้โดยทั่วไปมีธาตุหลัก 3 ชนิดคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปตัสเซี่ยม หรือ N – P – K ส่วนใหญ่นิยมให้สูตรเสมอเช่น 16 – 16 – 16 หรือ 20 – 20 – 20 โดยไนโตรเจนจะช่วยให้กล้วยไม้เจริญเติบโต มีลำต้นและใบอวบใหญ่ สร้างยอดอ่อน มีใบที่มีสีเขียวสดใส ส่วนฟอสฟอรัส จะช่วยให้กล้วยไม้มีรากที่แข็งแรง ทนต่อโรคและช่วยกระตุ้นการออกดอก เช่นปุ๋ยสูตร 12 – 45 – 12 หรือ 15 – 30 – 15 และธาตุโปตัสเซี่ยม จะช่วยให้ต้นและใบแข็งแกร่งทนต่อโรค มีรากที่แข็งแรงและให้ดอกที่สมบรูณ์แต่ในฤดูฝนกล้วยไม้มักจะได้รับธาตุไนโตรเจนในปริมาณมากจากน้ำฝน โดยเฉพาะฝนตกในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองจะยิ่งมีปริมาณไนโตรเจนมากเป็นพิเศษ นอกจากนั้นในฤดูฝนกล้วยไม้อาจไม่ได้รับแสงแดดตอนเช้าเพียงพอทำให้ไนโตรเจนในกล้วยไม้ไม่อาจใช้ควบคู่กับกระบวนการสังเคราะห์แสงอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรทำให้มีการเก็บสะสมอยู่ในต้นมาก ทำให้มีใบและลำต้นอวบอ้วนภายในจะมีแต่น้ำเป็นองค์ประกอบที่มากเกินไปประกอบกับการที่เราให้ปุ๋ยจำพวกไนโตรเจนที่มากเกินไปจะทำให้กล้วยไม้อ้วนฉุ ไม่แข็งแรงและมีความเสี่ยงต่อการเน่าได้ง่ายมากกว่าปกติ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมการให้ปุ๋ยไนโตรเจนให้ดี หากยังต้องการให้ปุ๋ยสูตรเสมออยู่ก็ควรยึดระยะเวลาการให้ออกไปเช่นจากเดิมเคยให้ทุกๆ 5 – 7 วัน ก็ยึดออกไปเป็น10 – 14 วันต่อครั้ง หรืออาจเปลี่ยนสูตรปุ๋ยเป็นตัวหลังสูงกว่า (ลดไนโตรเจนแต่เพิ่มโปตัสเซี่ยม) เช่น 16 – 21 – 27 หรือ 7 – 14 – 34 หรือ 15 – 10 – 40 ก็สามารถให้ทุกๆ 5 – 7 วันเหมือนเดิมก็ได้ ซึ่งนอกจากจะลดธาตุไนโตรเจนลงไม่ให้ได้รับมากเกินไปแล้ว การเพิ่มตัวหลังจะช่วยให้กล้วยไม้มีช่อดอกที่สมบรูณ์แข็งแรงอีกด้วยซึ่งนักกล้วยไม้ส่วนใหญ่นิยมให้ตัวหลังสูงในฤดูฝน และให้ตามระยะเวลาตามปกติ นอกจากนั้นควรให้ปุ๋ยในตอนเช้า วันที่อากาศแจ่มใสมีแสงแดดดี ซึ่งจะทำให้ขบวนการสังเคราะห์แสงมีประสิทธิภาพมากขึ้น (โปรดติดตามในตอนต่อไป)

นายใจศิลป์ ก้อนใจ
นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยสาธิต
และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น