รับมือน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ คิดคนละทิศละทาง “ปวิณ” ฟันธงทุกหน่วยงานต้องใช้แผนฉบับเดียวกัน

น้ำท่วมซ้ำซาก พ่อเมือง งัดกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดการปัญหาน้ำท่วมขังเมืองเชียงใหม่ หลังรับฟังบรรยายยังพบ แต่ละหน่วยงานยังสะเป๊ะสะปะส่งต่องานระหว่างพื้นที่ไร้ประสิทธิภาพ แจงเป็นกฎหมายพิเศษใครไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง “เด้ง” ให้พ้นพื้นที่ได้ เผยถกแบ่งงานกันชัดแต่ฝ่ายปฏิบัติยังรับลูกทำงานช้า ส่วนแยกต้นพะยอมกับแยกภูคำยังต้องร้องเพลงรอ ทน.ชม.แจงได้งบแก้ปัญหาพร้อมสั่งวัสดุแล้วอีก 40 วันได้ของจึงจะลงมือทำได้

ตรวจการระบายน้ำ

วันที่ 25 ส.ค.59 เวลา 11.00 น.ที่บริเวณทางลงเรือข้างวัดชัยมงคล นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ลงพื้นที่เพื่อตรวจความพร้อมของเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งสำนักชลประทานเชียงใหม่นำมาติดตั้งในการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใน อ.เมืองเชียงใหม่ พร้อมกับรับฟังการบรรยายถึงแนวทางการดำเนินการรับมือน้ำที่จะหลากท่วมในพื้นที่ อ.เมือง พร้อมกันนี้ได้เดินทางไปตรวจสถานีสูบน้ำบ้านดอนชัย ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯ กล่าวว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ได้มอบให้ นายมงคล สุกใส รอง ผวจ.ประชุมในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ มีการพูดคุยกันถึงการบริหารจัดการน้ำในระดับน้ำที่มีความแตกต่างกัน และการจัดการรับมือปริมาณน้ำฝนอย่างไร รวมถึงการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ การเปิดเดินเครื่องสูบน้ำและการตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ รวมถึงการใช้แผนที่การบริหารจัดการน้ำในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นแผนที่เดียวกันในทุกหน่วยงาน ซึ่งในแผนที่นั้นจะแสดงทิศทางการไหลของน้ำ บริเวณประตูน้ำ พร้อมระบุผู้รับผิดชอบในแต่ละจุดว่าเป็นใคร และต้องดำเนินการอย่างไรในการจะบริหารจัดการน้ำร่วมกันในภาพรวม

“คืนวันที่ 24 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ในเขตเมืองเชียงใหม่มีฝนตกปริมาณ 64 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่ได้มีการสั่งการ มีการเตรียมการรับมือไว้แล้ว ก็ต้องตรวจสอบให้ได้ว่าเกิดปัญหาอะไร อย่างที่แยกสุเทพบริเวณตลาดต้นพยอม ซึ่งมีพื้นที่เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ก็จะต้องมาพูดคุยกันว่าใครจะรับผิดชอบตรงจุดไหน และอย่างเช่นที่บ้านดอนชัย ต.ป่าแดด ซึ่งมีเครื่องสูบน้าขนาดใหญ่ หากนำน้ำที่รอการระบายหรือท่วมขังในเมืองมาถึงจุดนี้ได้เร็ว ก็จะสามารถสูบออกได้ทันที่ในปริมาณน้ำฝนขนาดนี้ ก็ตองมีการพูดคุยกันในประเด็นปัญหาที่มีอยู่ว่า ติดขัดตรงไหนและต้องแก้ไขอย่างไร” ผู้ว่าฯ แจง

นายปวิณฯ กล่าวต่อว่า ช่วงนี้จะมีการประกาศเตือนกันว่าจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการจะกำหนดให้ผู้รับผิดชอบเพื่อให้มีความชัดเจน ในการบัญชาการในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละจุดในแต่ละครั้ง รวมทั้งการจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อกลับไป เท่าที่ผ่านมามีจุดน้ำเอ่อกลับราว 40 จุด ซึ่งต้องหามาตรการในการจัดการแก้ปัญหานี้ อีกจุดในบริเวณคูเมืองซึ่งช่วงนี้ปริมาณน้ำมีมากจะใช้โอกาสนี้ในการล้างคูเมือง มีการลดระดับน้ำเป็นประจำวันได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่าง จ.เชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1 เทศบาลนครเชียงใหม่ การบริหารน้ำระหว่างคลองแม่แตง การลดระดับน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ ต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม เพื่อให้คูเมืองสามารถรับน้ำฝนที่ตกหนักในระดับคืนวันที่ 24 ต่อเช้าวันที่ 25 ส.ค.59 ที่ผ่านมาได้

ต่อคำถามที่ว่าในเบื้องต้นเรื่องใดที่ยังเป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้ยังเกิดน้ำท่วมขังในเขตเมืองเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าฯกล่าวว่า คงต้องใช้กฎหมายป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยในการเตรียมการ เพื่อจะให้เป็นคนรวมข้อมูล และให้มีการแจ้งสั่งการให้ปฏิบัติในแต่ละจุดที่มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ

หลังจากการตรวจความพร้อมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ของสำนักชลประทานเชียงใหม่ บริเวณข้างวัดชัยมงคล ตรวจสถานีสูบน้ำบ้านดอนชัย หมู่ที่ 4 ต.ป่าแดด และตรวจประตูระบายน้ำคลองแม่ข่า นายปวิณ ได้เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีเจ้าหน้าที่จาก สำนักชลประทานที่ 1 สำนักงาน ปภ.เชียง ใหม่ ปลัดอำเภอเมือง ทหารจาก มทบ.33 นายกเทศมนตรีตำบลสุเทพ และนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้บริหาร ปลัดเทศบาลฯ และเจ้าหน้าที่จากกองช่าง เทศบาลนครเชียงใหม่

ทั้งนี้จากการรับฟังการรายงานการปฏิบัติ อุปสรรคปัญหาต่างๆ ทั้งจากเทศบาลนครเชียงใหม่ สำนักชลประทานที่ 1  และหน่วยงานต่างๆ ยังมีหลายประเด็นที่จะติดขัดซึ่งเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ โดยเฉพาะการสั่งการ การส่งต่อระหว่างหน่วยงาน และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำที่ยังขาดความเป็นเอกภาพไม่ต่อเนื่อง นายปวิณ ผู้ว่าฯ ให้ข้อสั่งการว่า จากการรับฟังการเตรียมการของทุกฝ่ายทำให้ทราบได้ว่า ทุกหน่วยทุกคนพร้อมเหมือนกันหมด ที่จะทำงานในการรับมือน้ำท่วมเมือง แต่การส่งต่อกันไปยังอาจไม่เรียบร้อย จึงขอให้ใช้ พ.ร.บ.ป้อง กันและบรรเทาสาธารณภัย 2552 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีอำนาจบังคับสูง อาทิ การจะแก้ไขปัญหาหากบ้านไหนดื้อแพ่งเจ้าพนักงานตามกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถสั่งให้รื้อบ้านหลังนั้นได้ทันที และไม่มีความผิด เจ้าของบ้านไม่สามารถนำความไปฟ้องเจ้าหน้าที่เป็นคดีต่อศาลได้

“ในสถานการณ์แบบนี้ควรที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการออกคำสั่ง เป็นกฎหมายที่น่าจะมีประโยชน์ในการเตรียมรับมือและจัดการภัยไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะจะช่วยป้องกันเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานได้ทำงานอย่างสะดวก อีกประการยังจะทำให้เกิดการสั่งการ การออกคำสั่ง ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ประการที่ 2 การลดระดับน้ำในคูเมือง เป็นช่วงที่เหมาะในการใช้น้ำไปล้างคลองแม่ข่า และล้างคูเมืองเองด้วยไปในตัว อีกทั้งยังจะเป็นการป้องกันการเกิดอุทกภัยในเขตเมืองได้ด้วย แต่ทุกฝ่ายต้องพูดคุยกันให้ชัดถึงแนวทางที่จะต้องทำงานประสานสอดรับกัน ประการที่ 3 คือเรื่องการที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้งบประมาณในการดำเนินการสร้างจุดตัดน้ำให้ลงคลองชลประทานในจุดที่มีปัญหาแยกภูคำและแยกสุเทพ หรือแยกตลาดตันพยอมซึ่งมีปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากบนถนนเป็นประจำและยังอยู่ระหว่างรอวัสดุอุปกรณ์อีกกว่า 40 วัน ในช่วงนี้ต้องติดวิธีการที่จะรับมือหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ก่อน” ผู้ว่าฯกล่าว

นายปวิณ ผู้ว่าฯกล่าวอีกว่า สำหรับการใช้กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในการบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะต้องอาศัยแผนที่เป็นฉบับเดียวกันในการปฏิบัติในลักษณะการบูรณาการในทุกภาคส่วน โดยการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบและส่งต่อภารกิจต่อเนื่องกัน โดยมีคนสั่งการโดยระบบ Single Command โดยผู้อำนวยการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจ ซึ่งจะสั่งการให้ปฏิบัติไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในแต่ละจุด เพราะลำพังทำเพียงหน่วยเดียวหรือคนเดียวนั้นไม่อาจทำได้ในสถานการณ์เช่นนี้ หากจุดไหนเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติหรือไม่รับคำสั่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้อำนวยการระดับจังหวัดสามารถที่จะเรียกต้องหรือสั่งให้เจ้าหน้าที่คนนั้นออกจากพื้นที่และสามารถเอาผิดตามที่กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบัญญัติไว้

ด้าน นายเจนศักดิ์ ลิมปิติ ผู้อำนวยการชลประทานเชียงใหม่ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ว่า คณะทำงานที่มีนายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่เป็นประธานได้กำหนดแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของจังหวัดเชียงใหม่ไว้แล้ว โดยได้จัดทำแผนที่แสดงจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัยปี 2559 มีการแบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น 6 โซน มีการกำหนดจุดที่ตั้งประตูน้ำต่างๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบทั้งของเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบลช้างเผือก และอบจ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ก็ยังมีจุดที่ตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวของสำนักงานชลประทาน และเครื่องสูบน้ำถาวรที่บริเวณถนนเข้าสนามบินหรือกองบิน 41 ด้วย โดยเป็นแผนที่ One Map ของ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีรายชื่อหน่วยงานพร้อมเบอร์โทร.ผู้รับผิดชอบซึ่งก็ทำให้ง่ายต่อการประสานงาน

“ส่วนจุดเสี่ยงในเมือง 4 จุดคือ ที่ รพ.ลานนา วันนี้จะมอบให้ อบจ.เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนถนนห้วยแก้วจะมอบให้เทศบาลตำบลช้างเผือกกับชลประทานแม่แตงเป็นผู้ดูแล จุดที่ 3 บริเวณถนนสุเทพแยกต้นพะยอมจะมอบเทศบาลตำบลสุเทพและชลประทานแม่แตงดูแล ส่วนจุดที่ต่ำทำให้น้ำในแม่น้ำปิงเอ่อเข้ามาในตัวเมืองเชียงใหม่ โครงการชลประทานเชียงใหม่และสำนักชลประทานที่ 1 ดูแล ซึ่งจุดต่ำสุดคือบริเวณป่าพร้าวนอกได้วางแผนจะเอาเครื่องสูบน้ำไปสแตนบายแถวนั้นกับบริเวณติดน้ำปิงทั้งหมด แต่ภายใต้เงื่อนไข 2 ข้อ คือ ระบบระบายน้ำต้องได้รับการขุดลอกทำความสะอาดทั้งหมดในเขตเมือง และบริเวณที่เป็นฝาปิดทางระบายน้ำลงแม่น้ำปิงจะต้องมีฝาปิดทางเดียว เพื่อไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้ามาเวลาที่สูบน้ำออกไปแล้ว จากการสำรวจมีประมาณ 40-60 จุด จะไม่ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างแน่นอน” นายเจนศักดิ์ฯ กล่าว

ผอ.โครงการชลประทานฯ กล่าวอีกว่า สำหรับน้ำท่วมขัง วันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่าน สาเหตุจากน้ำลงร่องระบายน้ำไม่ทัน ตรงนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ต้องทบทวนการขุดลอกและทำความสะอาดท่อให้ทันก่อนฝนลงมากกว่านี้ ถ้าสามารถนำน้ำให้ลงมาสู่จุดที่ต่ำได้เร็ว ก็สามารถสูบน้ำออกสู่น้ำปิงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยสถานีสูบน้ำที่บริเวณประตูน้ำดอนชัย ต.ป่าแดด สามารถสูบน้ำได้วันละ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าน้ำมาถึงก็สามารถสูบได้ ส่วนปัญหาที่แยกตลาดต้นพยอมและแยกภูคำเป็นจุดรอยต่อระหว่างเทศบาลตำบลช้างเผือก เทศบาลตำบลสุเทพและเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งแต่ละฝั่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ 3 หน่วยงานจึงไม่มีเอกภาพในการแก้ปัญหา แต่ครั้งนี้ ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ได้สั่งการแล้วให้เทศบาลตำบลสุเทพและชลประทานแม่แตงเป็นผู้ดูแล โดยตัดน้ำที่เอ่อลงดอยสุเทพมาให้ลงคลองชลประทานให้หมด

สำหรับประเด็นข้อสั่งการของผู้ว่าฯเชียงใหม่ที่จะให้นำ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ ได้มีการเรียกประชุมด่วนในวันที่ 26 ส.ค.59 เพื่อกำหนดตัวผู้รับผิดขอบในแต่ละจุดให้ชัดเจน พร้อมกับการปรับปรุงการทำงานในจุดที่น้ำท่วมซ้ำซาก

ร่วมแสดงความคิดเห็น