หนุนพาณิชย์จังหวัดขับเคลื่อน เศรษฐกิจระดับภูมิภาคเข้มแข็ง

b.7รัฐมนตรีพาณิชย์นัดประชุมพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเดือนกันยายนนี้ ยกร่างแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 หวังใช้กลไกพาณิชย์จังหวัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้เข้มแข็ง ส่วนการบ้านที่มอบให้ทำทั้งการดูแลค่า ครองชีพ สินค้าเกษตร และการค้าชายแดน ได้ข้อสรุปออกมาแล้ว เตรียมนำไปขับเคลื่อน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดการประชุมมอบนโยบายให้กับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศอีกครั้งภายในเดือนกันยายน 2559 เพื่อติดตามความคืบหน้าการทำงานและเตรียมปรับบทบาทสำนักงานพาณิชย์จังหวัดให้เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมถึงการผลักดันพาณิชย์จังหวัดให้เป็นแม่งานจัดทำแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 โดยดึงจุดเด่นแต่ละจังหวัดทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดมาปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ที่จะขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2560–2564 ” เสร็จแล้ว และเตรียมจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มและความท้าทายทางการค้าของกลุ่มจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงรับทราบปัญหาหรืออุปสรรคในทางปฏิบัติจากมุมมองที่หลากหลายทั้งจากภาครัฐและเอกชนก่อนที่จะมาจัดทำเป็นแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0

“มอบหมายปลัดกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพาณิชย์จังหวัดและหัวหน้ากลุ่มจังหวัดทั้ง 18 คน โดยต้องฝนให้แหลมคม เพื่อเป็นผู้แทนของกระทรวงในพื้นที่ หลังจากกระทรวงฯ ทำนโยบาย One Roof ที่รวมเอาหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงฯ มาอยู่ที่เดียวกัน โดยมีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ขับเคลื่อน” นางอภิรดี กล่าว

นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการมอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดไปจัดทำแผนการดำเนินงานในส่วนภูมิภาคที่เกี่ยวกับการดูแลค่าครองชีพ สินค้าเกษตร และการค้าชายแดน ขณะนี้พาณิชย์จังหวัดเสนอแนวทางการดำเนินงานแต่ละเรื่องเข้ามาแล้ว โดยมีแผนการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งจะมีการผลักดันให้มีการนำไปสู่ภาคปฏิบัติจริงต่อไป เพื่อช่วยในการดูแลประชาชนในด้านค่าครองชีพ ดูแลเกษตรกรให้ขายสินค้าเกษตรได้ในราคาที่คุ้มต้นทุน และผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาค รวมถึงการค้าชายแดน โดยการดูแลค่าครองชีพ พาณิชย์จังหวัดเสนอว่าการดูแลราคาสินค้าควรกำกับดูแลตามกลไกตลาดและจะต้องเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยเฉพาะการใช้โซเซียลมีเดียเข้าถึงประชาชน เพื่อกระตุ้นให้รู้จักการฉลาดซื้อ ประหยัดใช้ และผลักดันให้มีการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคและแนวร่วมประชาชน ส่วนกรณีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จะต้องเร่งเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชน และรณรงค์ให้ตระหนักถึงการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

ด้านการดูแลสินค้าเกษตร สำหรับสินค้าเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ปาล์ม ยางพารา จะบูรณาการการทำงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้การตลาดนำการผลิต ลดพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับความต้องการ หากสินค้าใดไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ ควรลดพื้นที่ปลูก และนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมาผลิต แปรรูป และส่งออกแทน ส่วนสินค้าเกษตรที่เป็นสินค้าประจำจังหวัด จะต้องจัดทำแผนการตลาดล่วงหน้ารองรับผลผลิตก่อนออกสู่ตลาด โดยใช้ระบบการจำหน่ายออนไลน์ ใช้กลไก Biz Club บริษัทประชารัฐรักสามัคคี มาช่วยกระจายสินค้า

ด้านการค้าชายแดน จะผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างเมืองหลัก เมืองรอง และกลุ่มจังหวัดของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและหัตถกรรมร่วมกัน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ การผลิตสินค้า การสร้างความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจไทยกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ และการสร้างเครือข่ายธุรกิจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจ การค้า การลงทุนในตลาดภูมิภาค

ร่วมแสดงความคิดเห็น