“ปวิณ” วาดฝัน “เชียงใหม่ปลอดยาบ้า” ลั่น!!หากมีเจ้าหน้าที่เอี่ยว…ฟันไม่เลี้ยง

ปวิน ชำนิประศาสน์
นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

เชียงใหม่รับลูกนโยบายรัฐบาล “ประชารัฐร่วมใจปลอดภัยยาเสพติด” ติวเข้มปกครอง ท้องที่ ท้องถิ่น และตำรวจ กำหนด 60 หมู่บ้านนำร่องลุยตามกรอบ 9 ขั้นตอนหวังให้ยาเสพติดเป็น “0” ในปี 2560 “ปวิณ” ย้ำเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่เกี่ยวข้องยาเสพติดเด็ดขาด หากพบต้องดำเนินเฉียบขาดถึงขั้นชงใช้ ม.44 จัดการ รับกว่า 273 หมู่บ้านชุมชนในเชียงใหม่ยังมีปัญหายาเสพติดรุนแรง กำหนดหมู่บ้านเป็น 3 กลุ่มตามความรุนแรง พร้อมสั่งการทุกหมู่บ้านชุมชนทำประชาคมประเมินตนเองเพื่อจัดกลุ่มดำเนินการตามกรอบ 9 ขั้นตอนของแผนประชารัฐฯ

วันที่ 5 ก.ย.59 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมตามโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำหมู่บ้าน ชุมชน ในการขับเคลื่อนแผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้านและชุมชนมั่นคงปลอดยาเสพติด พ.ศ.2559-2560 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการประชุม นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวรายงาน โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 2,450 คน ประกอบด้วยนายอำเภอทุกอำเภอ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง หน่วยหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่

นายประจวบ กันธิยะ ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญของชาติและให้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ประกอบกับเมื่อวันที่ 9 มี.ค.59 ที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนายการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบแผนประชารัฐร่วมในสร้างหมู่บ้านและชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติดภายในปี 2560 ด้วยกลไกและกระบวนการของประชารัฐ ร่วมใจกันป้องกันดูแลปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและชุมชนของตนเอง โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 กำหนดให้ทุกจังหวัดคัดเลือกหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ปัญหายาเสพติดรุนแรงและปานกลางเพื่อเป็นหมู่บ้านนำร่อง ซึ่งพื้นที่ จ.เชียงใหม่มีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 60 หมู่บ้าน

ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานตามแผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2559-2560 ตามกระบวนการสร้างความเข้าแข็งหมู่บ้านชุมชนมีกระบวนการในการดำเนินการทั้งสิ้น 9 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การสืบสภาพชุมชน ขั้นตอนที่ 2 การพบปะแกนนำและผู้นำธรรมชาติ ขั้นตอนที่ 3 ประกาศวาระหมู่บ้านและชุมชน ขั้นตอนที่ 4 รณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ครัวเรือนเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหา ขั้นตอนที่ 5 คัดแยกผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขั้นตอนที่ 6 แก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ขั้นตอนที่ 7 การรับรองครัวเรือนโดยเวทีประชาคม ขั้นตอนที่ 8 การใช้มาตรการทางสังคม และขั้นตอนที่ 9 รักษาสถานะความเข้มแข็ง ทั้งนี้การดำเนินการในแต่ละหมู่บ้านทั้ง 60 หมู่บ้านนำร่องจะต้องดำเนินการไล่เรียงตามลำดับทั้ง 9 ขั้นตอนยาเสพติด

ด้าน นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้รัฐบาลมีเป้าหมายทุกหมู่บ้านชุมชน 81,905 หมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศโดยเป็นการแก้ปัญหาตามสภาพที่เป็นจริง ในปี 2559 ได้มีการคัดเลือกหมู่บ้านที่จะมาร่วมโครงการประชารัฐร่วมใจแก้ไขปัญหายาเสพติดสำหรับจังหวัดเชียงใหม่มีการคัดเลือกมาทั้งสิ้น 60 หมู่บ้าน โดยมีขั้นตอนการทำงานอยู่ทั้งหมด 9 ขั้นตอน แต่ปรากฏว่าการทำงานตามขั้นตอนต่างๆ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลต้องการ โดยเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นในสังคมไทยคือ ในหมู่บ้านไม่มีผู้ค้า ไม่มีผู้เสพ ที่สำคัญที่สุดคือไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง

“มีกลไกป้องกันกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ก็คือ การให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม และมีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ทั้ง 9 ขั้นตอน ซึ่งการดำเนินการแต่ละขั้นตอนเพื่อความสำเร็จโดยประชาชนมีส่วนร่วม ไม่มีผู้ค้าผู้เสพ ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง มีกลไกป้องกันในชุมชนในโรงเรียน โดยหมู่บ้านชุมชนจะแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 คือชุมชนที่ไม่มีปัญหาหรือมีปัญหาน้อย กลุ่มนี้กระบวนการทั้ง 9 ขั้นตอนจะเข้าไปดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยการเข้าไปตรวจสอบ พูดคุย จัดตั้งและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้หมดไปในหมู่บ้านชุมชน” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

นายปวิณฯ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มมีปัญหาต้องเข้าไปแก้ไข ต้องดำเนินการให้ชุมชนกลุ่มนี้เข้าใจสภาพที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะต้องให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีความรุนแรง กลุ่มนี้อาจมีการสนธิกำลังในการปราบปราม มีกระบวนการในการแสดงกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้เข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้แต่ละหมู่บ้านชุมชนต้องรู้ตัวเองว่าเป็นกลุ่มไหน มีขนาดความรุนแรงมากน้อยเพียงใด

“ที่ผ่านมาทุกหมู่บ้านชุมชนได้ประเมินตนเองว่ามีสถานะอะไรอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งหากประเมินสถานะตนเองได้ถูกต้อง การแก้ปัญหาของชุมชนก็ทำได้ถูกต้องถูกทาง หากหมู่บ้านใดประเมินตนเองคลาดเคลื่อนกระบวนการแก้ไขก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ต้องเริ่มต้นกันใหม่ เรื่องนี้ได้ย้ำผ่านนายอำเภอทุกอำเภอไปแล้วว่าการจะดำเนินการในเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ หมู่บ้านชุมชนต้องประเมินตนเองให้ถูกต้อง อย่างบางพื้นที่ประเมินตัวเองผิดพลาดกลายเป็นว่าต้องใช้กระบวนการหลายๆ อย่างดำเนินการก่อนที่จะดำเนินการตาม 9 ขั้นตอนได้ ที่สำคัญคือ 2,175 หมู่บ้านชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องมีปัญหาที่น้อยลง” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

“หมู่บ้านชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการประเมินตนเองพบว่า มีหมู่บ้านชุมชนที่ไม่มีปัญหายาเสพติด 1,336 แห่ง มีปัญหาน้อย 410 แห่ง มีปัญหาปานกลาง 157 แห่ง และมีหมู่บ้านชุมชนอยู่กลุ่มรุนแรง 273 แห่ง ในกลุ่มหมู่บ้านที่มีปัญหาน้อยนั้น จะใช้กระบวนการปกติเพื่อให้สถานะของหมู่บ้านนั้นๆ ดำรงอยู่ แต่ที่มีปัญหาปานกลางหรือรุนแรงต้องดำเนินอย่างไรก็ได้เพื่อให้ปัญหาบรรเทาเบาบางลง โดยเฉพาะหมู่บ้านที่รุนแรงจะต้องมีมาตรการต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือที่มีการปล่อยปะละเลย จะมีความผิดเช่นเดียวกัน คือการไม่ทำหน้าที่ของตนเองในการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทำให้ปัญหายาเสพติดคงอยู่” นายปวิณฯ กล่าว

นายปวิณฯ กล่าวอีกว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการบูรณาการในหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมาร่วมกันทำงานในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดต่างๆ บัญชีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกหน่วยงานจะนำมาพูดคุยกัน ซึ่งหากพบว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะมีการดำเนินการอย่างเฉียบขาดและอาจจะต้องเสนอให้ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่นี้ จังหวัดเชียงใหม่รับนโยบายจากรัฐบาลเมื่อวันที่ 2 ก.ย.59 ที่ผ่านมาก็จะมีการขับเคลื่อนโดยเริ่มจากการเตรียมการให้พร้อมในการจะไปจัดการ ปราบปราม แก้ไข บำบัดรักษาเพื่อจะได้คืนคนดีให้แก่สังคม ตามกลยุทธ์แผนประชารัฐร่วมใจในการสร้างชุมชนที่มั่นคงปลอดภัยยาเสพติด

“เชื่อมั่นว่าทุกคนที่ร่วมบูรณาการทำงานด้วยกันในนามจังหวัดเชียงใหม่ต้องการให้ปัญหายาเสพติดน้อยลงไป ลดความรุนแรงลงไป ให้ลูกหลานเราที่หลงผิดกลับมาเป็นคนดีคืนสู่สังคม ปีนี้ได้มีการขอให้ทุกหมู่บ้านชุมชนทำประชาคมโดยประชาชนที่เป็นความลับ แต่ก่อนอาจไม่มีครามเชื่อมั่นในภาครัฐ แต่เมื่อมีการแบ่งกลุ่มหมู่บ้านชุมชนชัดเจน เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชนในหมู่บ้านชมชนได้ เพื่อจะนำผู้เสพในพื้นที่เข้าสู่การบำบัดรักษาและดำเนินการกับผู้ค้าตามกระบวนการปราบปรามต่อไป” นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น