มส.จัดแถวท่าทราย ลำน้ำปาย

DSC_0015

เรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องอนุญาตดูดทรายลำน้ำปาย เสียภาษีให้ท้องถิ่นมีรายได้ แก้ปัญหาการขาดแคลนทรายสร้างอาคารบ้านเรือน และป้องกันการลักลอบดูดทรายแม่น้ำ จำนวน 12 ราย ในพื้นที่ ต.ปางหมู

เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันนี้ 7 ก.ย.59 ที่ห้องประชุม อบต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้เรียก สำนักงานที่ดินจังหวัด ,กรมเจ้าท่า , ตำรวจ, ทหาร, ฝ่ายปกครอง, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อัยการ, อุตสาหกรรม และนายก อบต.ปางหมู เข้าร่วมชี้แจงเพื่อพิจารณาต่อใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบการดูดทรายในลำแม่น้ำปาย เขตพื้นที่ตำบลปางหมู จำนวน 12 ราย หลังจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ประกอบการดังกล่าว สามารถดูดทรายและเสียภาษีให้กับ อบต.ปางหมู เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมกันพิจาณา ต่อใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการดูดทรายทั้ง 12 ราย ในปี 2560 ต่อไปอีก 1 ปี

DSC_0003

จากนั้น นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการได้ร่วมกันเดินทางลงพื้นที่แม่น้ำปาย ต.ปางหมู ตรวจสอบแหล่งดูดทรายทั้ง 12 แห่งที่ได้รับอนุญาต ซึ่งจัดเป็นโซนนิ่งในเขตพื้นที่บ้านปางหมู หมู่ 1, บ้านสบป่อง หมู่ 6 , บ้านสบสอย หมู่ 7 และบ้านขุนกลาง ( นาหมากปิน) หมู่ 11 เพื่อดูสภาพความเป็นจริงของแหล่งที่ดูดทรายว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร รูปแบบการนำทรายขึ้นมาจากแม่น้ำ ที่กองและที่เก็บทรายก่อนที่จะส่งจำหน่าย

DSC_0010

นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายราย จะทำการลักลอบดูดทรายในแม่น้ำปายอยู่เป็นประจำ และถูกเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการจับกุมดำเนินคดี เนื่องจากผิดทั้งในเรื่องกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ แต่ปัญหาที่ตามมาคือประชาชน ขาดแคลนทรายในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ไปหาซื้อที่จังหวัดใกล้เคียงก็มีราคาแพง ต่อมาเมื่อปี 2557 ผู้ประกอบการก็ได้รวมตัวกันมายื่นขออนุญาตดูดทรายในแม่น้ำปาย ซึ่งคณะกรรมการก็ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และจะได้นำภาษีเข้ารัฐ จึงได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถดูดทรายได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจัดโซนนิ่งเฉพาะจุดที่ได้รับอนุญาต จุดที่ดูดทรายจะต้องห่างจากสะพาน สถานที่ราชการ ตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป ห้ามกองทรายในพื้นที่ป่า ห้ามใช้เครื่องมือหนักในการดูดทราย ให้ใช้ได้เฉพาะแรงงานคนและใช้ปิ๊บดำน้ำตักทรายบริเวณกลางลำน้ำขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งจากการออกตรวจพื้นที่ผู้ประกอบการแต่ละแห่ง พบว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมาย จึงต่อใบอนุญาตให้อีก 1 ปี

สำหรับกิจการตักหินทรายในแม่น้ำปาย ในอดีตที่ผ่านมา มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐ ในเรื่องการลักลอบของกลุ่มผู้ประกอบการ และมีการจ่ายใต้โต๊ะให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำให้มีการนำเรื่องดังกล่าว เสนอต่อหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 7 ม่อนตะแลง จนนำไปสู่การลงนาม เอ็มโอยู ระหว่างผู้ประกอบการกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาการลักลอบได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น และมีเจ้าของกิจการหลายราย ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น