สดร.ระดมนักดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก เดินหน้าโครงการ “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” แห่งแรกในอาเซียน

b-7-jpg b-8-jpg สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Thai Very Long Baseline Interferometer Network Collaborative Workshop (TVN 2016) ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุ มุ่งเป้าพัฒนาดาราศาสตร์วิทยุในไทย วางแนวทางการพัฒนาดาราศาสตร์วิทยุที่เหมาะสมกับไทย พิจารณากำหนดแนวทางงานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์วิทยุกับเครือข่ายเอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเครือข่ายยุโรป เตรียมเดินหน้าสร้าง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร แห่งแรกในประเทศไทย

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า สดร. มีโครงการที่จะดำเนินการสร้างกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร และ 13 เมตร ในปี 2560-2564 ระยะแรกจะเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและยีออเดซี่ และสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานและเทคโนโลยีวิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ปัจจุบันยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องด้วยสามารถเป็นจุดเชื่อมระหว่างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกล VLBI (Very Long Baseline Interferometer) ใกล้เคียง เช่น เอเชียตะวันออก และออสเตรเลีย เป็นต้น ประเทศไทยอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับ 25 เมตรขึ้นไป เพื่อเชื่อมต่อและร่วมสังเกตการณ์กับเครือข่าย VLBI ของโลก ซึ่งสดร. ได้มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ เป็นต้น

b-9-jpgเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสนับสนุนโครงการจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ สดร. จึงจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการครั้งนี้ ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์วิทยุจากสถาบันต่าง ๆ ทั่วโลก ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การพัฒนาเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุ วางแนวทางการพัฒนาดาราศาสตร์วิทยุที่เหมาะสมกับประเทศไทย กำหนดแนวทางงานวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางดาราศาสตร์วิทยุกับเครือข่ายเอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเครือข่ายยุโรป การจัดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ของชาติ

ก่อให้เกิดความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุทั่วโลกเพื่อการพัฒนางานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์วิทยุและทางด้านธรณีวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเปลือกโลกซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเกิดภัยพิบัติบนพื้นโลก เช่น การเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง และทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำทางด้านดาราศาสตร์วิทยุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รศ. บุญรักษา กล่าวปิดท้าย

ดร. พฤทธิ์ เจริญจิตติชัย หัวหน้าโครงการฯ กลุ่มวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ เราได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกหลายประเด็น สามารถนำมาตัดสินใจการเลือกกล้องโทรทรรศน์วิทยุ และกำหนดแนวทางงานวิจัยในอนาคต รวมทั้งพัฒนาความเชี่ยวชาญของบุคลากรทั้งด้านการทำวิจัยและด้านวิศวกรรม ถือเป็นการทำงานร่วมกันในภูมิภาค และเกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ระดับโลกต่อไปในอนาคต

การประชุมเชิงปฎิบัติการดังกล่าว มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมจำนวน ทั้งสิ้น 55 คน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 5 – 9 กันยายน 2559 ณ โรงแรมอ่าวนางวิลล่ารีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

b-10-jpg

ร่วมแสดงความคิดเห็น