งัดกฎหมายคุม ที่ท่องเที่ยวเสี่ยงภัย เกิดอุบัติเหตุบ่อย ทั่วพื้นที่เชียงใหม่

pageถกควบคุมกิจการท่องเที่ยวเสี่ยงภัย ได้มติให้ทุกอำเภอเร่งสำรวจธุรกิจที่มีความเสี่ยงทุกประเภท เตรียมเรียกจัดแถวเพิ่มทั้งล่องแก่งล่องแพ ปีนผา รถ ATV กรณีแกรนด์แคนยอนยังมึนหาข้อกฎหมายโดยตรงมาบังคับไม่ได้ พร้อมมอบหมายท่องเที่ยวและกีฬา หารือสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่งัดกฎหมายเข้าควบคุม เผยตัวเลขแค่ 9 เดือนกิจการท่องเที่ยวเสี่ยงภัย เกิดเหตุกับนักท่องเที่ยวมากถึง 10 ราย

วันที่ 20 ก.ย.59 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ นายกฤษณ์ ธนาวณิช รอง ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตาม กำกับ และตรวจสอบพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยมีปกครอง จ.เชียงใหม่ สสจ.เชียงใหม่ ปภ.เชียงใหม่ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 สาขาเชียงใหม่ สำนักจัดการป่าไม้ที่ 1 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ปศุสัตว์ จ.เชียงใหม่ โยธาธิการและผังเมืองฯ ท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ นายอำเภอและผู้กำกับการสถานีตำรวจในพื้นที่ อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง อ.สันกำแพง อ.สันทราย อ.ดอยสะเก็ด อ.แม่วาง อ.แม่ออน อ.หางดง และ อ.แม่อาย โดยมีวาระการประชุมสำคัญ เพื่อพิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย เพื่อกำหนดรายละเอียดในการบังคับใช้กฎหมาย และหารือการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย กรณีเกิดเหตุในแหล่งท่องเที่ยว ที่มีความเสี่ยงภัยต่อนักท่องเที่ยวของแกรนด์แคนยอน อ.หางดง

เสร็จสิ้นการประชุม นายกฤษณ์ ธนาวณิช รอง ผวจ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การประชุมวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการ ที่จะควบคุมดูแลสถานที่ท่องเที่ยวที่เสี่ยงภัย ต่อนักท่องเที่ยวซึ่งได้ข้อยุติในหลายเรื่อง ในเรื่องแรกได้มีมติให้มีการสำรวจสถานที่ ที่เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว แต่เดิมมีการสำรวจเฉพาะผู้ประกอบการโหนสลิง หรือ ซิปไลน์ แต่การประชุมวันนี้มีมติให้สำรวจเพิ่มเติม ในธุรกิจการท่องเที่ยวประเภทอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงด้วยซึ่งมีหลากหลาย ทั้งล่องแก่ง ล่องแพ ปีนผา กีฬาประเภทเอ็กซ์ตรีม รถ ATV แม้กระทั่งการกระโดดน้ำ ซึ่งเมื่อสำรวจแล้วจะให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่เที่ยว เพื่อผู้ประกอบการสามารถจัดทำประกันภัยให้แก่นักท่องเที่ยวได้ นักท่องเที่ยวก็สามารถใช้ประโยชน์จากการประกันภัยนั้นได้

“ประเด็นที่ 2 ที่ได้เป็นข้อสรุปจากการประชุม กรณีการประกอบการแกรนด์แคนยอน ในส่วนของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องท่องเที่ยวคือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังไม่มีกฎหมายที่จะมาใช้บังคับกิจการประเภทนี้เป็นการเฉพาะ จึงมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องทางด้านกฎหมาย ที่ประมวลกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายด้านสาธารณสุข กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องเล่น โดยจะนำมาประมวลเพื่อออกเป็นมาตรการในการควบคุมกิจการลักษณะแกรนด์แคนยอนภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นให้มีการศึกษากฎหมายสาธารณสุข เกี่ยวกับการเป็นภัยต่อสุขภาพชีวิตและร่างกาย ซึ่งหากเข้าข่ายคณะกรรมการชุดนี้ก็จะแจ้งไปยังท้องถิ่นในพื้นที่ ให้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อควบคุมกิจการในลักษณะแกรนด์แคนยอน โดยมอบหมายให้ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงใหม่ ไปหารือกับ สสจ.เชียงใหม่ รวมถึงทางพื้นที่ที่รับผิดชอบด้วย ซึ่งคาดว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายชุดนี้ จะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้านี้ และจะเริ่มดำเนินการได้ทันที” นายกฤษณ์ ธนาวณิช รอง ผวจ. กล่าว

ทั้งนี้ในปี 2559 นับถึงวันที่ 20 ก.ย.59 จ.เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยง ทั้งสิ้น 10 กรณี กรณีที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 2 ม.ค.59 กรณีนักท่องเที่ยวใต้หวันประสบอุบัติเหตุระหว่างทำกิจกรรมขับขี่รถ ATV กรณีที่ 2 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนตกช้างที่ปางช้างโชคชัย กรณีที่ 3 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนตกช้างที่ปางช้างแม่วาง กรณีที่ 4 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีนเกิดอุบัติเหตุระหว่างทำกิจกรรมโหนสลิงที่กระรอกบิน กรณีที่ 5 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติเยอรมัน ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นน้ำที่แกรนด์แคนยอน กรณีที่ 6 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นน้ำที่แกรนด์แคนยอน กรณีที่ 7 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน ประสบอุบัติเหตุขณะเล่นกิจกรรมโหนสลิงที่สกายไลน์แอดเวนเจอร์ กรณีที่ 8 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ประสบอุบัติเหตุจากการเล่นน้ำแกรนด์แคนยอน กรณีที่ 9 กรณีนักท่องเที่ยวประสบอุบัติเหตุ ระหว่างทำกิจกรรมโหนสลิงที่สกายไลน์แอดเวนเจอร์ และกรณีที่ 10 กรณีนักท่องเที่ยวสัญชาติไทย ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากการกระโดดเล่นน้ำที่แกรนด์แคนยอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น