คอยจับตาดูราคาน้ำมันดิบหลังการประชุม โอเปก-นอกโอเปกและนัยต่อธุรกิจพลังงาน

111

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในระยะข้างหน้า นอกจากต้องจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียและไนจีเรียอย่างใกล้ชิด คงต้องติดตามสถานการณ์การผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาว่าจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด หลังจากที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า และปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ จนไม่มีเงินมาซื้อน้ำมันดิบชนิดเบา (Light Crude Oil) เพื่อใช้ผสมกับน้ำมันดิบชนิดหนักพิเศษ (Extra Heavy Oil) ที่ผลิตได้ในการปรับปรุงให้มีคุณสมบัติตามต้องการ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจาก Shale Oil ที่หากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีก ก็อาจทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้ จนเป็นปัจจัยมากดดันราคาน้ำมันดิบโลก นอกจากนี้ ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เช่น แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การเพิ่มดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ การนัดประชุมนอกรอบระหว่างกลุ่มโอเปกกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่จะจัดในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประชุมในรอบนี้ น่าจะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการตรึงกำลังการผลิต ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ (ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 38.4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล) และในปี 2560 น่าจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

• การที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อภาคธุรกิจพลังงานทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่จะได้ประโยชน์จากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่อาจจะได้กำไรจากสต็อกน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีที่อาจเผชิญความท้าทายจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่แม้อาจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แต่คาดว่าจะเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปน่าจะยังเติบโตอยู่ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมนอกรอบระหว่างกลุ่มโอเปก (OPEC) กับประเทศนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) ในวันที่ 26-28 ก.ย. 59 ณ ประเทศอัลจีเรียนี้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยราคาน้ำมันได้รับผลกระทบจากข่าวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันซาอุดีอาระเบียได้ออกมากล่าวว่า “ซาอุดีอาระเบียไม่มีนโยบายการกำหนดปริมาณการผลิตที่แน่นอน แต่การผลิตจะขึ้นกับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก” หรือกรณีที่อิหร่านกล่าวว่าจะเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ก็ยังยืนยันที่จะตรึงกำลังการผลิตเมื่อปริมาณการผลิตอยู่ที่ระดับก่อนถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกที่ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้วเท่านั้น (คาดว่าจะถึงได้ภายในปลายปีนี้ ทั้งนี้ กำลังการผลิตในเดือนส.ค. 59 อยู่ที่ราว 3.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ) และล่าสุดก็เป็นกรณีที่มีการตกลงกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซียในการตรึงกำลังการผลิต (Production Freeze) แต่ก็ไม่มีรายละเอียดในเชิงปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไม่ว่าที่ประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะสามารถบรรลุผลสำเร็จในการตรึงกำลังการผลิตหรือไม่ ภาวะของน้ำมันดิบที่ล้นตลาดซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่สหรัฐฯ สามารถผลิต Shale Oil ได้จำนวนมาก ก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปจนถึงปลายปีหน้า ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกน่าจะยังมีความผันผวน และแม้แนวโน้มราคาน้ำมันจะเป็นทิศขาขึ้น แต่การปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ยังมีข้อจำกัดอยู่

444

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ภายหลังการประชุมนอกรอบระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC (26-28 ก.ย. 59)

ในการประชุมนอกรอบระหว่างกลุ่มโอเปกกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่ใกล้จะถึงนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า น่าจะเป็นไปได้ยากที่จะบรรลุผลสำเร็จในการตรึงกำลังการผลิต เนื่องจากผู้ผลิตแต่ละรายยังคงต้องการที่จะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกัน ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านที่มุ่งเป้าในการเพิ่มกำลังการผลิตไปให้ถึงระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ระดับก่อนถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตร) ซาอุดีอาระเบียที่ออกมาให้ความเห็นว่าปริมาณการผลิตจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบในไนจีเรียและลิเบียที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น อันหมายถึงกำลังการผลิตน้ำมันที่อาจเพิ่มขึ้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกลดลงไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ ทั้งนี้ ถ้าที่ประชุมไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการตรึงกำลังการผลิต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบน่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และปี 2560 จะขึ้นไปอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 48 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ และผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ ที่ยังคงลดกำลังการผลิตลงมา
อย่างไรก็ดี แม้การประชุมในรอบนี้อาจจะไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จในการตรึงกำลังการผลิต แต่ด้วยระดับราคาน้ำมันที่ต่ำเกินไปก็อาจทำให้เกิดการนัดประชุมนอกรอบระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่มโอเปกได้อีกในอนาคต (โอเปกจะมีนัดการประชุมตามปกติอีกในวันที่ 30 พ.ย. 59) ทั้งนี้ ถ้าสามารถบรรลุข้อตกลงในการตรึงกำลังการผลิตได้ในช่วงสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตน้ำมันของอิหร่านน่าจะอยู่ที่ระดับ 4 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันดิบอาจจะไต่ระดับขึ้นไปแตะ 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือสูงกว่านั้นได้ในบางช่วงของปี 2560 โดยราคาน้ำมันอาจจะมีความผันผวนได้ในช่วงครึ่งปีแรก จากปริมาณการผลิตที่ยังมากกว่าปริมาณการใช้อยู่ แต่ในช่วงปลายปีที่ตลาดน่าจะเข้าใกล้ภาวะสมดุลแล้ว ราคาน้ำมันน่าจะเคลื่อนไหวได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในระยะข้างหน้า นอกจากต้องจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียและไนจีเรียอย่างใกล้ชิด คงต้องติดตามสถานการณ์การผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลาว่าจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด หลังจากที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า และปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจากภาวะราคาน้ำมันดิบตกต่ำ จนไม่มีเงินมาซื้อน้ำมันดิบชนิดเบา (Light Crude Oil) เพื่อใช้ผสมกับน้ำมันดิบชนิดหนักพิเศษ (Extra Heavy Oil) ที่ผลิตได้ในการปรับปรุงให้มีคุณสมบัติตามต้องการ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจาก Shale Oil ที่หากสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีก ก็อาจทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นได้ จนเป็นปัจจัยมากดดันราคาน้ำมันดิบโลก นอกจากนี้ ก็มีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เช่น แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ การเพิ่มดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น

555

นัยต่อธุรกิจพลังงาน

ในด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานของไทย แม้ผลของการประชุมระหว่างกลุ่มโอเปกกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะบรรลุผลสำเร็จในการตรึงกำลังการผลิตหรือไม่ก็ตาม ราคาน้ำมันดิบก็มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในอนาคต จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ธุรกิจต้นน้ำ) ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งราคาขายที่ลดต่ำลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ (Impairment) ทำให้ผลประกอบการลดต่ำลง รวมถึงยังชะลอการลงทุนออกไปก่อนด้วย (ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มีการเจาะหลุมสำรวจในไทยเพียง 9 หลุม ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเจาะไป 28 หลุม) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่จะค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต จากความต้องการใช้ที่ยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเช่าชุดขุดเจาะที่ต่ำลงค่อนข้างมาก จึงเป็นจังหวะที่น่าพิจารณาลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะกว่าจะสำรวจและผลิตออกมาได้ก็ใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งตอนนั้นตลาดน่าจะเข้าสู่ภาวะสมดุลและราคาน้ำมันคงสูงกว่านี้แล้ว นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าติดตาม ได้แก่ การเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 จำนวน 2 แหล่ง ได้แก่ แหล่งเอราวัณ กับแหล่งบงกช และการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น

ในส่วนของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (ธุรกิจกลางน้ำ) จากปริมาณการผลิตที่ยังคงมากกว่าความต้องการใช้ อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงมีความผันผวน ซึ่งจะไปกระทบให้เกิดทั้งกำไรและขาดทุนจากสต็อกน้ำมันดิบ แต่ด้วยแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบที่ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ทำให้โดยเฉลี่ยแล้วน่าจะช่วยให้ผลประกอบการของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันดีขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ทั้งนี้ ยังมีประเด็นในส่วนของค่าการกลั่นสิงคโปร์ที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งยังคงกดดันผลประกอบการของธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันอยู่ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าการกลั่นน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาได้ หลังจากที่ปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับค่อนข้างต่ำแล้ว

666

ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมี (ธุรกิจปลายน้ำ) ก็อาจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์จะขึ้นกับภาวะของอุปทานและอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ทั้งนี้ สำหรับโรงงานปิโตรเคมีที่มีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้วัตถุดิบ (Feedstock Flexibility) ก็จะสามารถวางแผนรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้ดีกว่า โดยการเลือกวัตถุดิบ (แนฟทา / โพรเพน / อีเทน) ที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมถูกลง ซึ่งจะทำให้ได้กำไรจากส่วนต่างระหว่างต้นทุนวัตถุดิบและราคาผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น

สำหรับธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน (ธุรกิจปลายน้ำ) ซึ่งได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปลดต่ำลงด้วย จึงเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใช้น้ำมันเพิ่มมากขึ้น เช่น การเดินทางมาทำงานหรือท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น ประกอบกับการที่ภาครัฐได้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้น ส่วนต่างระหว่างน้ำมันสำเร็จรูปและ LPG จึงแคบลง และด้วยจำนวนสถานีบริการน้ำมันที่มีมากกว่า ผู้ใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์บางส่วนจึงหันกลับไปใช้น้ำมันเบนซินและดีเซล ทำให้ยอดการใช้น้ำมันในภาคขนส่งทางบกของเบนซินและดีเซลในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.5% และ 4.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับในปี 2560 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้แนวโน้มราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ขึ้นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (เนื่องจากผู้ผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ สามารถปรับเพิ่มระดับการผลิตได้ค่อนข้างรวดเร็วตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น) ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปน่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับค่าการตลาดโดยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง จึงน่าจะเป็นแรงสนับสนุนต่อผลประกอบการของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในปีหน้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจนี้ มีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง จึงอาจเกิดความแตกต่างของผลการดำเนินงานในผู้ประกอบการแต่ละรายได้

โดยสรุปแล้ว ธุรกิจพลังงานโดยส่วนใหญ่น่าจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ยังเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจภาคการขนส่ง ที่มีน้ำมันเป็นต้นทุนในการดำเนินงานหลัก อาทิ ธุรกิจสายการบินซึ่งมีค่าน้ำมันเครื่องบินคิดเป็นต้นทุนประมาณ 20-30% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานทั้งหมด ก็อาจต้องเตรียมแผนรับมือให้พร้อม โดยอาจพิจารณาทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันให้เหมาะสม หรือธุรกิจที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากในขั้นตอนการผลิต อาทิ ธุรกิจผลิตแก้วและกระจก ธุรกิจผลิตกระเบื้องเซรามิก ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ ก็อาจต้องเตรียมตัวด้วยการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนในการใช้พลังงาน เป็นต้น และสำหรับในส่วนของผู้บริโภค จากแนวโน้มของราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นก็อาจจะได้รับผลกระทบในแง่ของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาสินค้าบางประเภทที่อาจปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

222

ร่วมแสดงความคิดเห็น