BOI.ตั้งเข็มทิศ ปรับยุทธศาตร์ ภาคลงทุน

b1-w9h6-1
บีโอไอ.ยกเครื่อง เพิ่มสายงานบริหารการลงทุน บีโอไอ

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ปรับยุทธศาสตร์การลงทุน และกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยมองไปอีก 7 ปีข้างหน้า และมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่ต้นปี 2558 ตามมาด้วยการกำหนดนโยบายการลงทุนของรัฐบาลที่มุ่งไปสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีการใช้นวัตกรรมและการวิจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกัน ก็ได้ออก พ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมมาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ มากไปกว่าสิทธิประโยชน์และเครื่องมือที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้น หน่วยงานสำคัญอย่าง BOI จำเป็นที่ต้องปรับบทบาทภารกิจงานภายใต้นโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ภายในเวลา 3 เดือน เพื่อหามาตรการส่งเสริมการลงทุนและสิทธิประโยชน์ให้ตรงกับอุตสาหกรรมและนักลงทุนมากที่สุด ไม่เพียงแค่ระบบเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตขึ้น แต่ยังทำให้ BOI ขยายบทบาทและความรับผิดชอบครอบคลุมการลงทุนทั้งหมด

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กล่าวถึงโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือ การเพิ่มสายงานบริหารการลงทุนขึ้นมาอีก 1 สำนักงานสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ จากเดิมที่ BOI มีเพียง 4 สำนักงานกลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) สำนักงานบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร ผลิตผลการเกษตร อุตสาหกรรมเบา 2) สำนักงานบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิก โลหะขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง 3) สำนักงานบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 4) สำนักงานบริหารการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก บริการและสาธารณูปโภค

โดยสำนักงานที่ 5 ที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น จะครอบคลุมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระจายอยู่ใน 4 สำนักเดิม และอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีการจัดอยู่ในกลุ่มใด ๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต-อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ-หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม-อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์-อุตสาหกรรมดิจิทัล และนวัตกรรมจากเกษตรแปรรูป เป็นต้น

“สำนักงานที่ 5 ที่จะบริหารการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่นี้ จะดูแลรับผิดชอบงานสำคัญ คือ การกำหนดแพ็กเกจสิทธิประโยชน์การลงทุนให้กับนักลงทุนภาคเอกชน วิเคราะห์โครงการโอกาสและอุปสรรค กำหนดแผนการโรดโชว์ โดยจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความสามารถมากในการรับผิดชอบงานดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะช่วยทำเวิร์กช็อปเพื่อช่วยดีไซน์โครงสร้างองค์กรใหม่ที่จะได้เห็นในต้นปี 2560” นางหิรัญญากล่าว

นอกจากนี้ BOI จะทำการยกระดับหน่วยพัฒนาการการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD ขึ้นเป็นสำนักงานด้วย เพื่อดูแลบริหารจัดการถ่ายทอดนวัตกรรม ให้คำปรึกษาสำหรับนักลงทุนไทยในประเทศ ขณะเดียวกัน ได้เตรียมเปิดสำนักงาน BOI ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งที่เวียดนาม-เมียนมา-อินโดนีเซีย จากเดิมมี 14 แห่ง โดยจะอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลธุรกิจ คำปรึกษา เอกสาร และช่องทาง รวมถึงกฎหมายการลงทุนให้กับนักลงทุนในแต่ละประเทศ

จากแผนการโรดโชว์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลที่เริ่มเห็นผลในกรณีของนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ล่าสุด BOI ได้มุ่งการโรดโชว์ไปยัง 3 ประเทศเป้าหมายใหม่ในปลายปีนี้ ได้แก่ ฮ่องกง-สิงคโปร์-ไต้หวัน ในกลุ่มอุตสาหกรรม IT รวมถึง SMEs ที่เข้มแข็งและเป็นระดับสากล ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีสถิติการออกไปลงทุนนอกประเทศสูง สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ในเกาหลีใต้ BOI จำเป็นต้องติดตามความคืบหน้า ซึ่งอาจต้องเดินทางเพื่อไปเจรจาเงื่อนไขสิทธิประโยชน์แข่งขันกับทางประเทศเวียดนาม ที่ต้องการนักลงทุนจากเกาหลีใต้เช่นกัน โดยการดำเนินการต่าง ๆ ของ BOI ในขณะนี้ก็เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายยอดส่งเสริมการลงทุนให้ได้ 5.5 แสนล้านบาทนั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น