อุโมงค์แม่งัด 1.5 หมื่นล้าน ไม่คืบหน้า สาเหตุสั่งหัวเจาะพิเศษต่างประเทศ 2 สัญญาก่อสร้างได้-แต่ต่ำกว่าแผน

1

ชลประทานเผย โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา งานทั้งระบบในวงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท มี 4 โครงการย่อย สร้างประตูระบายน้ำที่แม่ตะมานดึงน้ำช่วงฤดูฝนมาพักที่เขื่อนแม่งัด เจาะอุโมงค์จากแม่งัดมาเติมน้ำให้แม่กวง และโครงการล่าสุดก่อสร้างท่อเหล็กเหนียวนำน้ำแม่งัดมาเติมน้ำให้น้ำแม่แตง งานก่อสร้างตอนอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัดเติมแม่กวงยังทำได้แต่ไม่คืบหน้า ทั้ง 2 สัญญายังก่อสร้างได้ต่ำกว่าแผน แจงสาเหตุต้องประกอบหัวเจาะซึ่งสั่งเป็นการเฉพาะจากต่างประเทศ คาดเริ่มเจาะได้ 1 พ.ย.นี้ ส่วนอีกฝากที่เจาะโดยระเบิดมีปัญหาเรื่องชั้นหินในช่วงแรก คาดผ่านช่วงนี้ไปได้เชื่องานฉลุย ชลประทานยันงานจะแล้วเสร็จตามสัญญาในปี 2564

วันที่ 29 ก.ย.59 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารสำนักงานชั่วคราวกรมชลประทาน บ้านป่าสักงาม อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ นายมงคล สุกใส รอง ผวจ.เชียงใหม่ นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ เยี่ยมชมพร้อมเข้ารับฟังการบรรยายความคืบหน้าของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยการประสานงานของคณะ นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และ นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 สำนักพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน นำทีมงานและผู้รับจ้างงานก่อสร้างตอนก่อสร้างจากเขื่อนแม่กวงฯ ไปยังเขื่อนแม่งัดฯ บริษัท ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายสรุปการดำเนินงานตามโครงการและนำเยี่ยมชมพื้นที่การก่อสร้างตามโครงการฯ

นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ว่า เนื่องจากพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน มีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ปัจจุบันขาดแคลนน้ำเฉลี่ยปีละประมาณ 137 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากกิจกรรมใช้น้ำต่างๆ ในพื้นที่ทั้งการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การเติบโตด้านการท่องเที่ยว การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และปัจจัยสำคัญคือ การขยายตัวของชุมชน และคาดว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า จะขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็นปีละประมาณ 173 ล้าน ลบ.ม.

“กรมชลประทานได้มีแนวคิดที่จะดำเนินโครงการนี้ โดยการเจาะอุโมงค์ส่งน้ำจากน้ำแม่แตงมาเติมไว้ที่เขื่อนแม่งัดฯ และขุดเจาะอุโมงค์จากเขื่อนแม่งัดฯ มาเติมน้ำให้แก่เขื่อนแม่กวงฯ จึงได้ทำการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม 2545 พร้อมกับการออกแบบซึ่งแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.52 โครงการนี้ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านพัฒนาแหล่งน้ำ หรือ คชก. ซี่งมีมติเห็นชอบโครงการฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.53 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ กก.วล. มีมติเห็นชอบโครงการ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.54 และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 เม.ย.54 อนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ ในกรอบวงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท” นายวิทย์ฯ กล่าว

สำหรับรายละเอียดและลักษณะโครงการฯ แบ่งออกเป็นโครงการย่อยๆ 4 โครงการ ประกอบด้วย โครงการแรก โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ขนาดความกว้าง 10 เมตร จำนวน 4 ช่อง โครงการที่ 2 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง–แม่งัด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.0 เมตร ยาว 25.624 กม. มีศักยภาพส่งน้ำผ่านอุโมงค์ได้สูงสุด 28.50 ลบ.ม.ต่อวินาที โครงการที่ 3 โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด–แม่กวง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.2 เมตร ยาว 22.975 กม. มีศักยภาพในการส่งน้ำผ่านอุโมงค์สูงสุด 26.50 ลบ.ม.ต่อวินาที และโครงการที่ 4 โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำแม่งัด–แม่แตง ซึ่งจะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2561-2564 โดยโครงการนี้เป็นการก่อสร้างท่อเหล็กเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 เมตร ยาว 26 กม. และอาคารประกอบต่างๆ ซึ่งมีศักยภาพในการส่งน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ 25 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี

“ในการดำเนินการตามโครงการย่อยที่ 3 นี้ ซึ่งเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัดมาแม่กวง แบ่งงานออกเป็น 2 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 ก่อสร้างจากเขื่อนแม่งัดฯ เข้ามาหาเขื่อนแม่กวงฯ จาก กม.0+000 ถึง กม.12+500 โดยการขุดเจาะการขุดเจาะอุโมงค์ยาว 12.500 กม. ราวครึ่งทาง โดยมี บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้างด้วยวงเงินตามสัญญาก่อสร้าง 2,334,600,000.00 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,340 วัน มีแผนงานก่อสร้างระหว่างวันที่ 24 มีนาคม 2558 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 งานก่อสร้างตามสัญญาที่ 1 นี้จะใช้วิธีการเจาะและระเบิด หรือที่เรียกว่า Drilling & Blasting หรือ D&B ช่วงนี้มีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว ความคืบหน้าของงานก่อสร้างอยู่ที่ร้อยละ 3.903 ซึ่งน้อยกว่าแผนงานก่อสร้างควรจะก่อสร้างได้ราวร้อยละ 10 ของแผนงานก่อสร้าง ทั้งนี้ที่งานล่าช้ามีสาเหตุมาจากชั้นหินผุกว่าที่คาดไว้และเป็นการก่อสร้างในช่วงแรกที่จะเจาะเป็นอุโมงค์เพื่อไปหาแนวขุดอุโมงค์จริงเหลือระยะเพียง 100 กว่าเมตร และเมื่อถึงจุดแนวอุโมงค์จริงก็จะแยกทำงานเป็น 2 ฝั่ง ซึ่งช่วงนั้นจะเร่งรัดการทำงานได้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้” ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าว

“ส่วนสัญญาที่ 2 เป็นการก่อสร้างอุโมงค์จากเขื่อนแม่กวงฯ ไปยังเขื่อนแม่งัดฯ บริเวณที่คณะสื่อมวลชนมาในวันนี้ เริ่มก่อสร้างจาก กม.12+500 ต่อจากสัญญาแรก มาที่ กม.22+975 แต่การก่อสร้างจริงจะเริ่มจากจุด กม.22+975 เข้าไป ความยาวในการการขุดเจาะอุโมงค์ 10.476 กม. มี บมจ. ยูนิคเอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้างด้วยวงเงินก่อสร้างตามสัญญา 1,880,800,000.00 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,440 วัน โดยมีแผนงานก่อสร้างระหว่างวันที่ 28 เม.ย.58 ถึงวันที่ 6 เม.ย.62 งานของสัญญาที่ 2 นี้ การขุดเจาะจะให้เครื่องเจาะอุโมงค์ที่เรียกว่า Tunneling Boring Machine หรือ TBM ตอนนี้มีผลงานการก่อสร้างไปแล้วรวมร้อยละ 5.421 ช้ากว่าแผนที่ร้อยละ 10 เช่นกัน ส่วนสาเหตุที่ช้าเนื่องจากการประกอบหัวเจาะ ซึ่งเป็นหัวเจาะที่ต้องสั่งผลิตเป็นการเฉพาะงานที่โครงการนี้ สั่งนำเข้าจากต่างประเทศ และต้องใช้เวลาในการประกอบ คาดว่าจะเริ่มเจาะได้ราววันที่ 1 พ.ย.59 นี้” นายวิทย์ฯ กล่าว

“เบื้องต้นจากการประเมินการเตรียมงานและการวางแผนการทำงานของทั้ง 2 บริษัท ทั้ง 2 สัญญา คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามเวลาที่ระบุทั้ง 2 สัญญา” ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าวยืนยัน
นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ กล่าวต่อว่า ส่วนการคาดหวังของโครงการ เชื่อว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ เฉลี่ยปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและลดความเสียหายจากน้ำท่วมในเขตจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทาน จำนวน 175,000 ไร่ สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในฤดูแล้งได้อีกราว 76,129 ไร่ พร้อมกับเพิ่มศักยภาพในการสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว และสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตงในฤดูแล้งได้ราว 14,550 ไร่

“ที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับการก่อสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ประเด็นนี้คณะกรรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ แล้ว ทั้งนี้ยังมีขั้นตอนในการดำเนินการราว 6 เดือน ซึ่งเรื่องนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ประเด็นนี้จึงไม่มีผลกระทบกับการก่อสร้างตามโครงการฯ นี้แล้ว” นายวิทย์ วงษ์กมลชุณห์ ผอ.สนง.ก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น