สาระน่ารู้..โรคอีสุกอีใส

download

โรคอีสุกอีใส เป็นโรคติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน มักจะระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน พบมากในเด็กวัย 5-9 ปี ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella Virus) สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-21 วัน คนไข้จะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีอาการ 2 วัน จนถึงมีตุ่มน้ำแตกกลายเป็นสะเก็ด
อาการของโรคอีสุกอีใส จะไม่รุนแรง เป็นเองหายเองได้ แต่จะพบมีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรียได้ เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังทำให้กลายเป็นหนองและจะมีแผลเป็นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้า ปอดบวม สมองอักเสบ และเยื่อสมองอักเสบนอกจากนี้ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ระยะอาการของโรคแบ่งได้ คือ 1.ระยะไข้ ประมาณ 2 สัปดาห์หลังจากที่ได้รับเชื้อ จะมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ไม่ว่าจะเป็นไข้สูงหรือต่ำ มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ 2.ระยะผื่น ผื่นจะขึ้นเป็นผื่นแดงๆ ลักษณะเป็นผื่นแดงเม็ดเล็กๆ แต่จะไม่มีอาการรุนแรงอะไร เว้นแต่มีอาการคันมาก 1 วัน 3.ระยะพองตุ่มใส ในระยะนี้ตุ่มจะค่อยๆใสและเยอะขึ้นเรื่อยๆ ภายใน 3-5วัน จะขึ้นตรงบริเวณลำตัวก่อน ลามไปที่คอ สามารถขึ้นที่หน้า ศีรษะ แขนขา และลามไปได้ทั้งตัว หรือแม้แต่เยื่อบุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา ตุ่มอาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย 4.ระยะตุ่มแห้ง ตกสะเก็ดภายใน 1-3 วันและสะเก็ดแผลก็จะค่อยๆลอกจางหายกลับเป็นปกติภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์
การรักษา 1.ถ้ามีอาการไข้ให้เช็ดตัว กินยาลดไข้พาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพรินเพราะอาจมีอาการแพ้ยาได้ โดยเฉพาะในเด็ก 2.ทายาแก้คัน เช่น คารามาย หรือกินยาบรรเทาอาการคัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา 3.ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ 4.ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกา ซึ่งจะทำให้แผลเกิดการติดเชื้อได้ง่าย 5.ใช้น้ำเกลือเช็ดแผลเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น และใช้สบู่ในการฟอกตัวอาบน้ำเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่บริเวณผิวหนัง 6.ผู้ใหญ่หรือเด็กที่อายุเกิน 12 ปีขึ้นไปและเด็กทารก จะใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาร่วมด้วย เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้สามารถเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อย 7.ถ้าผู้ใหญ่เป็นอีสุกอีใสให้รีบไปพบแพทย์ เพราะมียากินทำให้ลดจำนวนตุ่มได้ ถ้าเรากินเร็วทันเวลาจะทำให้หายเร็ว แต่ถ้าเป็นในเด็กไม่จำเป็นต้องกินยา ปล่อยให้เด็กได้สร้างภูมิคุ้มกัน 8.ถ้าเกิดมีอาการเหมือนแน่นหน้าอก หายใจเร็ว ไข้ไม่ลด ปวดศีรษะ ตุ่มเป็นหนอง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลเพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
การป้องกัน 1.แยกเด็กที่ป่วยไว้ต่างหาก 2.ไม่ใช้ข้าวของปะปนกัน 3.พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ 4.ฉีดวัคซีนป้องกัน (แนะนำให้ฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป)
โรคอีสุกอีใสเป็นแล้วก็สามารถกลับมาเป็นได้อีก แต่อาการจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวจะฝังตัวอยู่ในร่างกายของเราตลอดชีวิต ถึงแม้อาการของโรคอีสุกอีใสจะหายไปแล้วก็ตาม พอเวลาเราเครียด อดนอน ไวรัสจะจู่โจมทำให้เกิดตุ่มพองใสอย่างอื่น เราเรียกว่า “งูสวัด” เด็กบางคนที่มีโรคประจำตัวต้องกินยากดภูมิหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในกรณีนี้เด็กสามารถเป็นซ้ำครั้งที่สองได้ แต่อาการมักจะไม่รุนแรงเหมือนครั้งแรก ฉะนั้นต้องสังเกตและดูตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีอาการอย่าลืมมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาที่ถูกต้อง
…..รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น