พระรอดทองหง่าง หลวงพ่อเกษมปลุกเสก พระดี มวลสารดี น่าใช้

pic12196a
ความรู้ใหม่จากการนั่งเสาะหาที่มาที่ไปของพระเหรียญหลากหลายรุ่น ช่วงนี้ผมหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องการค้นหา และวิธีการพิจารณาพระเครื่อง พระเกจิอาจารย์จากต่างจังหวัด เรียกได้ว่าวันวันแทบไม่มีเวลาทำอะไรเลย เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมได้พระเหรียญมาเป็นจำนวนมากจากหลากหลายแหล่งที่มา มีทั้งรู้วัด รู้รุ่น และไม่รู้วัดไม่รู้รุ่น และผมเพิ่งจะเข้าใจในช่วงนี้เองว่าพระเครื่องในประเทศไทยมีอยู่มากมายหลายรุ่น ผมว่ากะคร่าวๆ ต้องมีหลายหมื่นรุ่นอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเมื่อเราต้องการทราบข้อมูลอะไรเกี่ยวกับพระเครื่องรุ่นต่างๆ ก็ต้องอาศัยเว็บไซต์พระเครื่องเป็นแหล่งข้อมูล ทำให้รู้ว่าเว็บไซต์เกี่ยวกับพระเครื่องในประเทศไทยก็มีมากด้วยเช่นกัน

เมื่อก่อนผมเคยได้ยินเซียนพระบ้านเราหลายท่านมักจะบ่นว่า พระเหนือไม่แพงสักที ดูพระภาคอื่นเขาแพงกันไปถึงไหนแล้ว บางเหรียญบางรุ่นเป็นแสน พระเหนือเมื่อไหร่ก็หลักพันหลักหมื่น จะมีที่เชิดหน้าชูตาบ้างก็เหรียญครูบาเจ้าศรีวิชัย ปี 2482 ที่มีราคาหลักแสนเท่านั้นเอง พอช่วงหลังได้ลองหาข้อมูลพระเหรียญที่มาจากหลายจังหวัดก็ได้รู้ว่า พระเกจิอาจารย์จากภาคกลาง โดยเฉพาะเหรียญยุคเก่า ปี 24กว่าๆ มีอยู่จำนวนหนึ่งที่มีราคาสูงเป็นแสน แต่อีกหลายๆ รุ่นก็ไม่ได้แพงอะไร บางเหรียญมี พ.ศ. ติดเอาไว้ ว่า พ.ศ. 2460 แต่ราคาไม่ถึงหมื่นก็มีเช่นกัน เพราะฉะนั้นราคาพระเหรียญส่วนใหญ่จะเป็นไปตามปัจจัย และความต้องการมากกว่า ไม่ใช่ว่าพระเกจิภาคกลางยุคเก่าจะต้องมีราคาเสมอไป เพราะฉะนั้นใช่ว่าพระสายเหนือปีเก่าจะต้องแพงเช่นกัน

มาเข้าเรื่องพระเครื่องกันบ้าง สัปดาห์นี้มีพระรอดรุ่นหนึ่ง ที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจ ทั้งในเรื่องของพิธีพุทธาภิเษก และชนวนมวลสาร ซึ่งมวลสารส่วนหนึ่งได้นำเอาชนวนพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ มาผสมด้วย ทำให้พระรอดรุ่นนี้มีความน่าสนใจ และน่าใช้เป็นอย่างมาก พระรอดทองหง่าง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2527 ในโอกาสหลวงพ่อเกษม เขมโก มีอายุ 6 รอบ หรือ 72 ปี พระรุ่นนี้จัดสร้างโดยคุณชินพร สุขสถิตย์ ซึ่งเป็นผู้สร้างพระกริ่งชินบัญชรหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ จ.ระยอง คุณเชิดศักดิ์ ภูมิสวัสดิ์ พลโท จิตรพล ณ ลำปาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อเกษม เขมโก แห่งสุสานไตรลักษณ์ พระรอดรุ่นนี้จัดสร้าง 2 พิมพ์ มีพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก โดยจุดที่น่าสนใจ และทำให้พระรอดรุ่นนี้น่าใช้มากที่สุดรุ่นหนึ่ง คือชนวนมวลสารที่นำมาผสมเพื่อสร้างพระรอด ประกอบด้วย 1.ชนวนพระกริ่งชินบัญชร หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ ระยอง 2.ชนวนพระกริ่งอรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่ 3.แผ่นจารของหลวงพ่อซึ่งเป็นพระสุปฏิปันโณอีกหลายองค์ 4 และชนวนมวลสารที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ โลหะส่วนแขนของหลวงพ่อมงคลบพิตร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งหักลงเมื่อครั้งเสียกรุงแก่พม่า ซึ่งมีผู้มอบให้แก่คณะผู้สร้างพระรอดทองหง่างให้นำมาเป็นชนวนสร้างพระรุ่น นี้ โดยจำนวนการสร้างของพระรอดรุ่นนี้ คือ ชุดพิมพ์ใหญ่ และเล็ก จำนวน 1,973 ชุด เท่านั้น

สรุปแล้วพระรอดทองหง่าง รุ่นนี้จึงเป็นพระที่น่าสนใจ และมีความน่าใช้ เนื่องจากประกอบไปด้วยชนวนมวลสาร สำคัญเป็นจำนวนมาก เป็นพระดีที่มีอนาคตสดใส คนเล่นพระน่าจะหามาใช้ มาสะสมกันคนละองค์สององค์นะครับ

ณัฐพล โอจรัสพร
www.siamboran.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น