มีเฮ!! เชียงใหม่ ปล่อยโคม ได้เพิ่มอีกวัน

เคาะแล้วประกาศ จังหวัดเชียงใหม่ หรือโคมลอยจุดและปล่อยปั้งไฟ พลุ ตะไล โคมไฟ โคมควัน กรมการจังหวัดกับสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ถกกันมันหยด โดยเฉพาะประเด็นการปล่อยโคม ที่สุดได้ข้อสรุป มีเฮ! ปล่อยโคมได้วันและเวลาอนุญาตให้จุดและปล่อยได้เพิ่ม โคมลอยหรือโคมควัน ปล่อยได้ 10 โมงถึงเที่ยงวัน เฉพาะวันลอยกระทงเล็ก ส่วนโคมไฟปล่อยได้วันกระทงเล็ก กระทงใหญ่ และวันส่งท้ายปีเก่า ขยายเวลาให้ปล่อยได้ระหว่าง 1 ทุ่มถึงตี 1 ที่สำคัญทั้งปั้งไฟ พลุ ตะไล โคมไฟ โคมควัน จะจุดหรือปล่อยต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอก่อนทุกครั้ง

img_0962

ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมหน่วยงานราชการ หรือกรมการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับ คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ เพื่อพิจารณาประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยปั้งไฟ พลุ ตะไล โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกัน โดยการจัดทำประกาศจังหวัดเชียงใหม่ ออกเป็น 4 ฉบับ

ทั้งนี้การออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 4 ฉบับนี้เป็นการออกตาม คำสั่ง คสช.ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน โดยคำสั่งดังกล่าวนี้ หัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยระบุในคำสั่งว่า ข้อ 1 ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ ท้องที่

สำหรับจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่จะจุด และปล่อยหรือกระทำการอย่างใดนั้น ส่วนหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตของนายอำเภอท้องที่ ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัด โดยในข้อ 2 ระบุว่าให้จังหวัดจัดทำประกาศจังหวัด โดยความเห็นชอบร่วมกันของคณะกรมการจังหวัด และสภาวัฒนธรรมจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยและการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ในการจุดและปล่อยหรือกระทำการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ

img_0968

ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ในการจัดการประชุม เพื่อพิจารณาประกาศจังหวัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ล่าช้า สืบเนื่องจากต้องรอการคัดเลือกคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ ซึ่งคัดเลือกแล้วเสร็จในวันที่ 29 ก.ย.59 ที่ผ่านมา โดยพิจารณาพร้อมกันทีเดียว 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ปั้งไฟ หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกัน ขึ้นไปสู่อากาศ ฉบับที่ 2 ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน จากการจุดและปล่อย พลุ หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกับพลุขึ้นสู่อากาศ ฉบับที่ 3 ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ ตะไล หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกันขึ้นไปสู่อากาศ และฉบับที่ 4 ประกาศจังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อย โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกันขึ้นไปสู่อากาศ

ทั้งนี้ในที่ประชุมกรมการจังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการถกในประเด็นประกาศฉบับที่ 4 เกี่ยวกับมาตรการการจุดและปล่อยโคมลอย โคมไฟ โคมควัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝากของคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมล้านนาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากร่างที่นำเสนอต่อที่ประชุมได้มีการกำหนดให้ปล่อยโคมลอยหรือโคมควันในช่วงเวลาเดียว กับการปล่อยโคมลอยหรือโคมไฟช่วงระหว่าง เวลา 19.00 น.ถึงเวลา 01.00 น. แต่ท้ายที่สุดก็ได้ข้อสรุป

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ประชุมของกรมการจังหวัดฯและสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ มีมติร่วมกันที่จะกำหนดในประกาศจังหวัดฯเกี่ยวกับระยะเวลาในการการให้จุดปล่อยโคมทุกประเภทไว้ 4 หัวข้อ ได้แก่ การปล่อยโคมลอยหรือโคมควัน ให้ปล่อยได้ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงเล็กของเชียงใหม่ โดยปล่อยได้ในระหว่างเวลา 10.00 น.ถึงเวลา 12.00 น. เพียงวันเดียวเท่านั้น ส่วนโคมอีกประเภทที่เรียกว่า โคมลอยหรือโคมไฟ คือโคมที่ต้องจุดไฟในโคมแล้วปล่อยลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ในประกาศอนุญาตให้ปล่อยได้ 3 วัน วันแรกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงเล็ก วันที่ 2 วันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 หรือวันกระทงใหญ่ และวันที่ 3 ที่อนุญาตให้ปล่อยคือ วันที่ส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี โดยทั้ง 3 วันที่อนุญาตให้ปล่อยโคมลอยหรือโคมไฟนี้ ปล่อยได้ระหว่างเวลา 19.00 น.ถึงเวลา 01.00 น. เท่านั้น

img_0965

“ส่วนโคมที่จะปล่อยได้นั้น โคมไฟ ต้องให้ได้มาตรฐาน มผช.808/2552 ตัวโคมต้องมีขนาดไม่เกิน 1 ลบ.ม. มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 ซม. สูงไม่เกิน 140 ซม. และทำจากวัสดุธรรมชาติ ในส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงให้ทำจากกระดาษชุบเทียนขี้ผึ้งหรือพาราฟิน น้ำหนักไม่เกิน 55 กรัม มีระยะเวลาในการเผาไหม้ไม่เกิน 8 นาที ส่วนโคมควันที่จะปล่อยได้ต้องทำจากกระดาษว่าวขนาดไม่เกิน 72 แผ่น ปากโคมมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 60 ซม. และให้หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษสีเดียวกับท้องฟ้า เช่น สีฟ้า สีขาว หรือสีเทา” นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ แจง

สำหรับประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดหรือปล่อยปั้งไฟ มีกำหนดให้ปล่อยได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เดือนกรกฎาคมเท่านั้น แต่ละหมู่บ้านให้จุดและปล่อยได้แค่ 1 วันต่อปี โดยหมู่บ้านใดไม่เคยจัดให้มีการปล่อยปั้งไฟมาก่อนที่จะมีประกาศนี้ ห้ามจัดให้มีการปล่อยปั้งไฟเป็นอันขาด และกำหนดให้จุดและปล่อยได้ระหว่างเวลา 13.00 น.ถึงเวลา 17.00 น.เท่านั้น ส่วนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางต้องไม่เกิน 3.5 นิ้ว ยาวไม่เกิน 280 ซม. ส่วนประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดและปล่อยพลุ อนุญาตให้จุดและปล่อยได้ในงานพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร วันลอยกระทงทั้งวันขึ้น 15 ค่ำและวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 วันส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม ของทุกปี โดยอนุญาตให้จุดและปล่อยได้ระหว่างเวลา 19.00 น. ถึงเวลา 01.00 น.

นอกจากนี้ยังกำหนดให้จุดและปล่อยได้ในงานอวมงคล งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานแข่งขันกีฬา หรืองานที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เคยมีประวัติในการจุดและปล่อยพลุมาก่อน พร้อมกับกำหนดขนาดของพลุไว้ที่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อไม่เกิน 12 นิ้ว และจุดปล่อยได้ไม่เกิน 500 นัดต่อวัน ยกเว้นการจุดพลุในวันจุดเทียนชัยถวายพระพร

ส่วนประกาศฉบับที่เกี่ยวกับการจุดและปล่อยตะไล กำหนดให้จุดและปล่อยได้ในงานอวมงคลเท่านั้น โดยกำหนดขนาดกระบอกของตะไลไม่เกิน 1.5 นิ้ว และเส้นผ่านศูนย์กลางของตะไลไม่เกิน 12 นิ้ว ปล่อยได้ไม่เกิน 40 วงต่อ 1 ใบอนุญาต ส่วนวัสดุที่นำมาผลิตต้องเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและไม่มีส่วนผสมของโลหะ ทั้งนี้การจะจุดและปล่อยปั้งไฟ พลุ ตะไล โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายกัน ต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอในพื้นที่ก่อน จึงจะจุดหรือปล่อยได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น