ฟอร์มาลีน ภัยใกล้ตัวทำลายสุขภาพ

3
“ฟอร์มาลิน” คือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือใช้เป็นน้ำยาดองศพ และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมได้หลายอย่าง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ พลาสติก สิ่งทอ และใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ย่นยับ เป็นต้น สารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเรียกทั่วไปว่า “ฟอร์มาลิน” หมายถึง สารละลายที่ประกอบด้วยแก๊ส ฟอร์มาลดีไฮด์ประมาณร้อยละ 37 โดยน้ำหนักในน้ำ และมีเมทานอล ปนอยู่ด้วยประมาณ 10-15 % เพื่อป้องกันการเกิดโพลิเมอร์
ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นของเหลวใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์พลาสติกสิ่งทอ และใช้ในการรักษาผ้าไม่ให้ย่นหรือยับ ในทางการแพทย์ใช้ในความเข้มข้นต่าง ๆ กันตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้เป็นหลัก เช่น ใช้ฆ่าเชื้อโรค (germicide) และฆ่าเชื้อรา (fungicide) และเป็นน้ำยาดองศพ เป็นต้น นอกจากนี้ในความเข้มข้นประมาณร้อยละ 0.004 จะช่วยป้องกันการขึ้นราในการเก็บรักษาข้าวสาลีหรือกันการเน่าเสียในพวกข้าวโอ๊ตหลังจากเก็บเกี่ยว และใช้เพื่อป้องกันแมลงในพวกธัญญพืชหลังการเก็บเกี่ยว
อันตรายจากฟอร์มาลิน มีบางคนนำฟอร์มาลินไปใช้ในทางที่ผิดคือ ผสมในอาหาร โดยเข้าใจว่าช่วยทำให้อาหารคงความสด ไม่เน่าเสียได้ง่ายและเก็บรักษาได้นาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เช่น ผักสดชนิดต่าง ๆ อาหารทะเลสดและเนื้อสัตว์ เป็นต้น การบริโภคสารละลายนี้โดยตรง จะเกิดอาการเป็นพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง หมดสติ และตายในที่สุด ถ้าบริโภคประมาณ 60-90 ลบ.ซม. จะเป็นผลให้การทำงานของตับไต หัวใจ และสมองเสื่อมลง และก่อให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงที่ปากและคอ สารละลายของฟอร์มาลินที่มีความเข้มข้นของฟอร์มาลดีไฮด์ระหว่าง 150-5,000 มก./กก. เมื่อสัมผัสจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง หรือถ้าบริโภคอาหารที่มีปริมาณฟอร์มาลดีไฮด์อยู่ในระดับนี้ บางคนจะเกิดอาการระคายเคืองและปวดแสบปวดร้อนที่ปากและคอ ผู้ที่มีความไวต่อสารจะแสดงอาการปวดศีรษะ หายใจติดขัดแน่นหน้าอก การสัมผัสกับสารละลายฟอร์มาลีนที่มีความเข้มข้นร้อยละ 2-10 เป็นเวลานานจะทำให้ผิวหนังอักเสบ พอง และเป็นตุ่มคัน กรณีสูดดมหรือสัมผัสก๊าซฟอร์มาลดีไฮด์ที่ระดับประมาณ 2-3 มก./กก.จะทำให้เกิดระคายเคืองที่ตา จมูก และคอ และที่ระดับประมาณ 10-20 มก./กก. จะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนอย่างรุนแรงที่ปากและคอ พร้อมกับมีอาการไอ เมื่อนำสารละลายฟอร์มาลีนมา ทดลองกับหนูทดลอง (mice) พบว่าเมื่อให้สารละลายนี้เข้าไปทางปากในปริมาณ 800 มก./กก. หนูทดลองร้อยละ 50 จะตายไป
หากสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าในอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ก็ทำการตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งภายในจะมีสารเคมีสำหรับตรวจสอบ 3 ชนิดและหลอดสำหรับใช้บรรจุของเหลวที่แช่อาหาร หรือผักผลไม้ที่จะตรวจสอบ สารเคมีที่ใช้เป็นน้ำยาสำหรับตรวจสอบ อาจใช้ น้ำยาฟอร์มาลิน 1เป็นสารละลาย Phynylhydrazine hydrochloride (C6H9ClN2) น้ำยาฟอร์มาลิน 2 ใช้สารละลาย Potassium hexacyanoferrate (K4Fe(CN6)) และน้ำยาฟอร์มาลิน 3 เป็นสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น (HCl conc.) โดยทำการตรวจสอบตามคำแนะนำในชุดทดสอบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น