สสจ.เชียงใหม่ติดตามอาการดูแลหญิงตั้งครรภ์จากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิด

สำนักงานสาธารณสุขจ.เชียงใหม่ติดตามอาการดูแลหญิงตั้งครรภ์จากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่พร้อมลงพื้นที่สอบสวนโรคภายใน 24 ชั่วโมง หากพบผู้ป่วยจะดำเนินการควบคุมโรคทันที
 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ติดตามอาการดูแลหญิงตั้งครรภ์จากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างใกล้ชิดย้ำจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่พบเด็กทารกที่มีภาวะศีรษะเล็กจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา วิธีสังเกตอาการโรคไข้ซิกา คือ มีอาการไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะซึ่งโดยปกติอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย และเป็นอยู่ 2-7 วัน ก็จะหายได้เอง
แต่หากผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรงจะต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดทันทีno_pic01
 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.59 ร้อยเอกภูรีวรรธน์ โชคเกิด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ไวรัสซิกาล่าสุดในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 จังหวัดเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสซิกา จำนวนทั้งหมด 16 ราย (ไม่พบผู้ป่วยเพิ่ม) การจากตรวจหาซิกาในจังหวัดเชียงใหม่มีทั้งสิ้น 937 ราย มีผลเป็นบวก 16 ราย เป็นบุคคลทั่วไป 13 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ข้อมูลจากการเฝ้าระวังในหญิงตั้งครรภ์ 3 ราย ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาอยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์ สำหรับผู้ป่วยที่พบรายล่าสุดตรวจพบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นชาย อายุ 33 ปี ซึ่งพักอาศัยในพื้นที่ ตำบลสันนาเม็ง อำเภอสันทราย
สำหรับอาการของผู้ป่วยที่พบติดเชื้อไวรัสซิกา ผู้ป่วยทั้ง 16 ราย ส่วนใหญ่ มีไข้ ต่ำๆ ออกผื่น อาการ ดีขึ้น ภายใน 3 -5 วัน รักษาแบบผู้ป่วยนอก ขณะนี้อาการเป็นปกติทุกราย
อาการของหญิงตั้งครรภ์ที่พบจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง 3 ราย มีรายละเอียดดังนี้ 1.เป็นหญิงอายุ 31 ปี สัญชาติไทย มีอายุครรภ์ 6 เดือน 2.เป็นหญิงอายุ 26 ปี สัญชาติไทยใหญ่ มีอายุครรภ์ 8 เดือน 3. เป็นหญิงอายุ 22 ปี สัญชาติไทย มีอายุครรภ์ 6 เดือน ซึ่งทางด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและนัดให้มาตรวจครรภ์ทุกเดือน ผลจากการตรวจยังไม่พบเด็กทารกที่มีภาวะศีรษะเล็กจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอาการของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกาทั้ง 3 ราย ขณะนี้อาการเป็นปกติ ทุกราย
จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่พบว่าโรคไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยตั้งแต่ วันที่ 3 มกราคม – 10 ตุลาคม 2559 จำนวน 4,246 ราย เสียชีวิตจำนวน 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-34 ปี รองลงมาคืออายุ อายุ 15-24 ปี และอายุ 35-44 ปี ตามลําดับ โดยอำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อำเภอแม่แตง อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่วาง อำเภอเมือง และ อำเภอสันกำแพง ทั้งนี้สำหรับโรคไข้เลือดออกนั้นยังไม่มีวัคซีนและยังไม่มียารักษาเฉพาะจะเป็นการรักษาตามอาการ
ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่ลงไปพ่นควันกำจัดยุงลายและขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นการลดพาหะนำเชื้อโรค ทั้งเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสซิกา หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ กลุ่มงานควบคุมโรคสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 053-211048- 50 ต่อ 111

ร่วมแสดงความคิดเห็น