ศธ.ร่วมลงนามบริษัทชั้นนำ โครงการพัฒนาครูฝึกช่างฯ

11-31

เมื่อวันที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงตามแนวทางมาตรฐานเยอรมัน” ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมี H.E. Mr. Peter Prugel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ศ.ดร.ธีรวุฒิ บุณยโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ผู้แทนจากสถานประกอบการที่ร่วมลงนาม ตลอดจนอาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษา เข้าร่วมพิธี
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ มุ่งเน้นการฝึกอบรมให้กับนายช่างเทคนิคในสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะที่ใช้ในการทำงาน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีความรู้และสามารถเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้างานได้ และถือเป็นการสร้างทักษะความรู้ใหม่ให้กับผู้ปฏิบัติงานให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยจะเริ่ม “โครงการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงตามแนวทางมาตรฐานเยอรมัน” ใน 3 สาขาวิชา คือ ไฟฟ้าอุตสาหกรรมและไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องกลอุตสาหกรรม และแมคคาทรอนิกส์
โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งตอบรับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในการยกระดับคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพด้วย จึงขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รวมทั้งผู้บริหารจากสถานประกอบการที่ร่วมโครงการฯ ที่ช่วยผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จและสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติงานและสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในเวทีโลกได้ ตลอดจนตอบสนองนโยบายการพัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ต่อไป
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการมีความยินดีอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามทางวิชาการ “โครงการพัฒนาครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงตามแนวทางมาตรฐานเยอรมัน” ในครั้งนี้ และขอขอบคุณสถานประกอบการทั้ง 17 แห่ง ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างมาก เนื่องจากเป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนความสามารถของคนไทยให้มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสพัฒนาทักษะฝีมือ พร้อมทั้งได้พัฒนาทักษะด้านภาษาด้วย อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สอดรับกับนโยบายประชารัฐของรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
หวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนากำลังคนในอนาคตของภาคอุตสาหกรรม ให้มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการเข้มแข็งขึ้นเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานในสังกัดได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะการทำงาน อีกทั้งเป็นการสร้างครูฝึกช่างเทคนิคขั้นสูงให้ตรงกับเกณฑ์มาตรฐานทางวิชาชีพ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
สำหรับการดำเนินโครงการในระยะแรกมีผู้ปฏิบัติงานเข้าร่วมโครงการกว่า 200 คน และผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาที่เข้ามามาฝึกประสบการณ์ตามโครงการสหกิจศึกษาด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาการศึกษาของโลก ดังเช่นที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาเอเปค ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในเอเปค เป็นต้น
ในส่วนของมาตรฐานวิชาชีพนั้น เป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีการจ่ายค่าตอบแทนหรือค่าจ้างให้แรงงานตามความสามารถหรือทักษะทางวิชาชีพ กล่าวคือ หากมีทักษะฝีมือขั้นสูงหรือมีทักษะการปฏิบัติงานที่ดีก็จะได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงด้วย อีกหนึ่งประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญและขอความร่วมมือจากภาคเอกชน คือ การส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้น และการร่วมกันจัดทำข้อมูลปริมาณความต้องการกำลังคนของตลาดแรงงาน โดยต้องการข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ได้จริง
เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาทักษะฝีมือของผู้ปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ด้วยการนำรูปแบบ Meister ของเยอรมนีมาปรับใช้ร่วมกับบริบทของประเทศไทย โดยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และฝึกประสบการณ์ให้มีความรู้ความสามารถและมีทักษะในการปฏิบัติงาน ตามกรอบการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมนั้น โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยและขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือและสถานประกอบการทั้ง 17 แห่ง ที่เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการฯ นี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น