แพทย์แนะผู้สูงอายุ บริหารสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์

22
แพทย์แนะป้องกันอาการสมองเสื่อมด้วยการออกกำลังกายสมองอย่างสมํ่าเสมอ เช่น เต้นรำ ร้องเพลง รวมทั้งรับประทานอาหารให้ครบหมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด จะทำให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “สมองเสื่อม”เป็นภาวะที่มีอาการสำคัญ คือ ความจำแย่ลงเรื่อยๆ จนมีผลต่อชีวิตประจำวัน รวมถึงพฤติกรรม บุคลิกหรืออารมณ์เปลี่ยนไปจากที่เคยเป็น ซึ่งสมองเสื่อมเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เลือดคั่งในสมอง โรคไทรอยด์ แต่สาเหตุที่พบบ่อย คือ โรคอัลไซเมอร์ มักพบผู้ป่วย
ช่วงอายุ 60-65 ปีขึ้นไป ประมาณว่าคนอายุ 65-75 ปี จำนวน 100 คนจะเป็นโรคนี้เฉลี่ย 5-10 คนในกลุ่มอายุที่สูงขึ้นก็จะพบมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคนี้ถึงครึ่งหนึ่งโดยโรคนี้เกิดจากการที่มีโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อเบต้าอะมัยลอยด์มากผิดปกติ โปรตีนชนิดนี้ไปจับที่สมองเป็นหย่อมๆทำให้สมองส่วนนั้นทำงานผิดปกติหรืออาจเสียสมองส่วนนั้นไปในที่สุด ซึ่งบริเวณที่โปรตีนนี้ไปเกาะมักเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำ โดยอาการที่เด่นชัดของโรคนี้จะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความจำเป็นหลัก ผู้ป่วยมักมีอาการหลงๆ ลืมๆ จำความไม่ได้ ลืมเรื่องที่พูดไปไม่นาน ชอบเล่าเรื่องเดิมซํ้าไปซํ้ามา ทักษะต่างๆ ที่เคยทำได้ดีก็ลืมทำไม่ได้ เดินหลงทิศทาง แก้ปัญหาง่ายๆไม่ได้ จำชื่อคนไม่ได้ซึ่งเกิดจากสารหลั่งในสมองที่เกี่ยวกับความจำลดลง และมีการตายของเซลล์สมองพบว่ามีสารผิดปกติของอะมัยลอยด์ในสมองผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของคนไข้ หากผู้ป่วยเริ่มมีอาการและไม่ได้รับการรักษา จะมีอาการสมองเสื่อมรุนแรงยิ่งขึ้นจนกระทั่งไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ โรคอัลไซเมอร์นี้ต่างจากอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ตรงที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถประคับประคองไม่ให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว การดูแลรักษาประคับประคองทำไโดย การรักษาด้วยยา การฟื้นฟูความจำ การกินอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักใบเขียวและผลไม้หลากสี อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี
1 และบี 12 เช่น นํ้ามันปลาหรือปลา ดื่มนํ้าสะอาด
ออกกำลังกายสมํ่าเสมอ รักษาโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น นอกจากนี้ ออกกำลังสมอง จะช่วยกระตุ้น
ให้สมองทำงานไม่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น
รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีออกกำลังกายสมอง คือ การฝึกทักษะการใช้ มือ เท้า และประสาทสัมผัสทั้ง 5 ให้รับรู้ข้อมูลและการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งรูปแบบอยู่กับที่ การเคลื่อนที่หรือแบบใช้อุปกรณ์ประกอบการเคลื่อนไหว โดยทำอย่างต่อเนื่อง จนเกิดการเชื่อมโยงของระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และ สมองส่วนต่างๆ ทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบ ทำจิตใจให้แจ่มใส
และฝึกสมองให้มีการใช้ความคิด ความจำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังดนตรี ร้องเพลง ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัวและสังคมเช่น การเต้นรำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้สมองทั้ง 2 ซีกให้ทำงานประสานกันทั้งระบบโดยสมองซีกซ้ายจะต้องทำความเข้าใจในทำนอง เนื้อร้อง และคิดท่าที่ใช้เต้นรำ ส่วนสมองซีกขวาต้องเข้าถึงอารมณ์ ความรู้สึกในเพลง ส่วนผู้ที่ต้องการบริหารสมองด้วยวิธีอื่นสามารถทำกิจกรรมง่ายๆ เช่น การเดินในที่อากาศโปร่งซึ่งจะทำให้ระบบไหลเวียนเลือดสูบฉีดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ออกกำลังกายแอโรบิค โยคะ เล่นกีฬาที่มีการฝึกสมอง เช่น หมากรุก หมากฮอส ซึ่งนอกจากจะได้ร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้ใจสงบ มีสมาธิ และเป็นการปรับร่างกายให้เข้าสู่ภาวะสมดุลและกระตุ้นสมองให้ต้องคิด และวางแผน ตัดสินใจ ทำให้สมองแข็งแรงและทำงานอย่างสมดุล ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์
เมื่อมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วย ควรบอกเล่าให้สมาชิกในบ้านได้รับทราบอย่างสมํ่าเสมอ หาทางปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ป่วย ในบางครั้งถ้าปัญหามากเกินกว่าที่ผู้ดูแลจะรับมือไหว ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการร่วมปรับยา และให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการสมองเสื่อมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จิตแพทย์แนะนำ 9 ข้อสำคัญ ดังนี้
1.ควรงดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมอง
2.ควรระวังเรื่องการใช้ยา ไม่ควรรับประทานยาสุ่มสี่สุ่มห้า ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาทุกครั้งและควรนำยาที่รับประทานเป็นประจำไปให้แพทย์ดูด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งยาซํ้าซ้อน
3.ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบกระเทือนศีรษะ
4.สำหรับผู้สูงอายุที่เดินลำบากควรมีคนดูแล เช่น เวลาเข้าห้องนํ้าควรมีคนไปเป็นเพื่อน เพราะอาจเกิดการลื่นหกล้มหัวฟาดในห้องนํ้าได้
5.เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ควรหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และไม่ควรลืมเจาะเลือดเพื่อตรวจหาโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง
6.ตรวจเช็กความดันเลือดสมํ่าเสมอตามที่แพทย์นัด หากพบว่าเป็นความดันโลหิตสูงก็ต้องปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพราะมีผลกระทบต่อภาวะสมองเสื่อมได้
7.ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ผู้สูงอายุไม่ควรหักโหมจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดโทษได้
8.ควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หมั่นเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ตามสมควร
9.เมื่อสังเกตว่าตนเองเริ่มมีอาการหลงๆ ลืมๆ มากผิดปกติ หรือมีอาการบ่งชี้อื่นๆ ที่น่าสงสัยก็ควรรีบไปพบประสาทแพทย์ หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุทันที

ร่วมแสดงความคิดเห็น