ศธ.แถลงเปิดศูนย์พัฒนา ครูอังกฤษ ระดับภูมิภาค

8

เมื่อวันที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าวเปิดศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (Regional English Training Centres) โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล (ประเทศไทย), นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.ต.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค, วิทยากรจากบริติช เคานซิล, Master Trainers ชาวไทยจากการอบรม Boot Camp ตลอดจนผู้บริหารและผู้แทนครูจากโรงเรียนที่ตั้งศูนย์ฯ ร่วมแถลงข่าว
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคในครั้งนี้ เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม (Boot Camp) ให้กับครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทย เมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นที่ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องจัดอบรม Boot Camp ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค คือ ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการสื่อสารภาษาอังกฤษ ดังเช่นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกไร้พรมแดนที่คนทั้งโลกใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารกัน แต่คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้เพียงร้อยละ 10 , ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ รวมทั้งด้านการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ย O-NET ในรายวิชาภาษาอังกฤษในทุกช่วงชั้นยังต่ำว่าร้อยละ 50 , ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน การเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ต้องใช้ภาษาอังกฤษ , ความจำเป็นในการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมก็เชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษ
จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของคนไทยอย่างจริงจัง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้ว อาทิ การปรับหลักสูตรด้วยการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ, การพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น ขณะนี้มีแนวทางในการแก้ปัญหาภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยด้วยการแก้ปัญหาที่ครูผู้สอนโดยจะพัฒนาครูผู้สอนอย่างจริงจัง เนื่องจากพบว่ากระทรวงศึกษาธิการมีครูผู้สอนภาษาอังกฤษประมาณ 44,000 คน แต่เป็นครูที่จบวิชาเอกภาษาอังกฤษเพียง 18,000 คนเท่านั้น
สำหรับการอบรม Boot Camp ในภูมิภาค คือ การอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม ใช้เวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากการอบรมในอดีตที่มีการอบรมเพียงไม่กี่วัน ซึ่งไม่ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นและไม่เกิดประโยชน์ และจะพยายามไม่ดึงครูออกนอกห้องเรียน จึงขอฝากผู้อำนวยการสถานศึกษาดูแลครูในโรงเรียนในสังกัดที่ต้องสละเวลามาอบรมด้วย นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีแผนพัฒนาครูวิชาอื่นด้วย เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รวมทั้งภาษาอื่น ๆ ที่มีความสำคัญเช่นกัน
นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น กระทรวงศึกษาธิการมีแนวคิดที่จะทดสอบความสามารถด้านภาษาอังกฤษในการสอบบรรจุเข้ารับราชการของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกระทรวงอื่น ๆ ต่อไป เพราะมองว่าการใช้เกณฑ์การทดสอบประเภทเดียวกันจะได้มาตรฐานกว่าต่างคนต่างทดสอบ ซึ่งทำให้มาตรฐานการทดสอบไม่เท่ากัน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินโครงการตามนโยบายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกระดับชั้น อาทิ การจัดทำแอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ “Echo English” เพื่อให้คนทั่วไปสามารถฝึกฝนการสื่อสารภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง, การสร้างมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียนโดยอิงมาตรฐานสากล CEFR ด้วยการนำมาตรฐาน CEFR มาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย โดยเรียกเป็น CEFR-TH มาตรฐานดังกล่าวจะนำมาซึ่งการจัดทำหลักสูตรภาษาอังกฤษให้สอดคล้องกับวัยของผู้เรียน จากนั้นจะประเมินผลว่าเด็กสามารถเรียนรู้ได้ตามมาตรฐานหลักสูตรหรือไม่ เป็นต้น
สำหรับการอบรม Boot Camp เมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าการอบรมแบบเข้มได้ผลมากกว่าการอบรมเพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์ เพราะระยะเวลาเพียง 2 วันไม่สามารถทำให้การอบรมประสบผลสำเร็จได้ ส่วนการอบรม Boot Camp ในระดับภูมิภาคจะใช้เวลา 3 สัปดาห์ โดยจะใช้งบประมาณ 182 ล้านบาท ในขณะที่ประเทศอื่นใช้งบประมาณมากกว่านี้ในการพัฒนาครู
นอกจากนี้ ครูที่เข้าอบรมต้องเสียสละเวลาเพื่อพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ซึ่งภายหลังการอบรมเสร็จสิ้น สถานศึกษาจะได้ครูคนใหม่กลับไปสอนหนังสือเด็ก อีกทั้งบริติช เคานซิล ได้ดำเนินการส่งวิทยากรชาวต่างชาติที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการอบรมไปประจำศูนย์ฯ ศูนย์ละ 3 คน และจะทำงานร่วมกับ Master Trainers ชาวไทยทั้ง 27 คน จากการอบรม Boot Camp
ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษศูนย์ที่ 1-4 เริ่มอบรมในเดือนตุลาคม 2559 ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ, โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จ.ขอนแก่น, โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ และโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี จากนั้นศูนย์ที่ 5-8 จะเริ่มอบรมช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ได้แก่ โรงเรียนชลกัลยานุกูล จ.ชลบุรี, โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จ.อุบลราชธานี, โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จ.พิษณุโลก
นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริติช เคานซิล มีความร่วมมือด้านการศึกษากับกระทรวงศึกษาธิการมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี สำหรับการอบรม Boot Camp ในระดับภูมิภาคครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดสำหรับบริติช เคานซิล ที่ได้มีความร่วมมือกับประเทศในเอเชีย
ทั้งนี้ การอบรม Boot Camp สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม อีกทั้งประเทศไทยต้องติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศอยู่เสมอ ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงมีบทบาทสำคัญมาก
นอกจากนี้ เนื้อหาการอบรม Boot Camp ที่อบรมโดยวิทยากรจากบริติช เคานซิล จะมุ่งเน้นทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ, วิธีการสอนภาษาอังกฤษ, การสร้างความมั่นใจในการสอนภาษาอังกฤษให้กับครูชาวไทย, การจัดการชั้นเรียนภาษา เป็นต้น เนื่องจากปัญหาหลักของการสอนหนังสือ คือ ครูที่จบการศึกษาแล้วสอนหนังสือไม่เป็น เพราะเรียนแต่ทฤษฎีไม่ได้ฝึกฝนภาคปฏิบัติ
จึงขอยืนยันว่าการอบรม Boot Camp เน้นการฝึกภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง อีกทั้งมีตัวชี้วัดประเมินผลการอบรมอย่างชัดเจน จึงมั่นใจว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จและจะเป็นมรดกให้ลูกหลานชาวไทยไปอีกหลายรุ่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น