ไขมันดีย่อมมีประโยชน์ต่อร่างกาย

4
อาหารหลัก 5 หมู่ แน่นอนว่าในแต่ละหมู่โภชนาการที่เรากินเข้าไปนั้น ย่อมให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ไม่เว้นแม้กระทั่ง “ไขมัน” ที่หลายๆ คนอาจหลงเข้าใจผิดไปว่าเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์และความจำเป็นต่อร่างกาย
ไขมันที่เรากินเข้าไป ไม่ได้ถูกจำกัดมาในรูปแบบของเนื้อสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาในรูปแบบของส่วนประกอบอื่นๆ ในเมนูอาหารที่เราคุ้นเคย ซึ่งไขมันในอาหารที่เรากินเข้าไปนั้น เปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน หากเลือกกินไขมันดีก็ย่อมเกิดประโยชน์ แต่หากเลือกกินไขมันไม่ดีก็ย่อมให้โทษแก่ร่างกาย
ไขมันดี (HDL) หรือ High Density Lipoprotein คือไขมันไม่อิ่มตัวที่มีความหนาแน่นของไขมันสูง จึงถูกจัดว่าเป็นไขมันที่ดีสำหรับหลอดเลือดแดง เพราะไขมันดีจะป้องกันไม่ให้ ไขมันไม่ดี (LDL) หรือ Low Density Lipoprotein ไปสะสมในหลอดเลือดแดง ซึ่งหากระดับไขมันดีในเลือดตํ่านั้นเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ก่อนที่จะนำมาซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไตวาย โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต เป็นต้น ซึ่งการทำงานของไขมันดีจะต่างกับการทำงานของไขมันไม่ดีโดยสิ้นเชิง เพราะ ไขมันไม่ดี จะมีหน้าที่ลำเลียงไขมันจากตับเข้าสู่กระแสเลือดในร่างกายของเรานั่นเอง
สสส. จึงรวบรวมคำแนะนำการกินไขมันดี หรือ HDL ประเภทต่างๆ ให้เกิดประโยชน์แก่ร่างกาย จากการแนะนำของ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง เครือข่ายคนไทยไร้พุง สสส. ฝากมา
ไขมันเป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะการทำงานของระบบสมอง รวมถึงการสร้างฮอร์โมน และผิวพรรณ กรดไขมันดีส่งผลดีต่อการทำงานของระบบหัวใจ โดยส่วนมากไขมันดี จะพบได้ในอะโวคาโด นํ้ามันมะกอก ปลา ถั่ว นํ้ามันแคโนล่า เนยถั่ว เป็นต้น
ซึ่งร่างกายควรได้รับแคลลอรี่ประมาณ 20-35% ต่อวัน และที่สำคัญควรเน้นไปที่ไขมันดีเป็นหลัก หากได้รับมากเกินไปอาจเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนได้ เนื่องจาก ไขมันยังคงเป็นอาหารที่ให้พลังงานแคลลอรี่สูง
ไขมันดี จาก กรดไขมันโอเมก้า 3
กรดไขมันโอเมก้า 3 พบได้ทั้งในปลาและในพืช พบมากในปลาทะเลนํ้าลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลานํ้าจืดบางชนิด พบในพืช เช่น ถั่ววอลนัท ถั่วเหลือง เมล็ดแฟล็กซ์ คาโนลา ผักสีเขียวบางชนิด อย่าง ผักโขม กะหลํ่าเล็ก

ประโยชน์จากกรดไขมันโอเมก้า 3 นั้นมีมากมาย ไม่ว่าช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL-C) ลดความหนืดของเลือด ลดการอักเสบภายในร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง แถมยังมี DHA ที่ช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึ่มของเซลล์ไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
ไขมันดี จาก กรดไขมันโอเมก้า 6
กรดไขมันโอเมก้า 6 มีหน้าที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของโอเมก้า 3 คือ ช่วยเพิ่มความแข็งตัวของเลือดให้ดีขึ้น เมื่อกินควบคู่กับโอเมก้า 3 ยิ่งเป็นการช่วยเสริมระบบการไหลเวียนเลือดในร่างกายให้สมดุลดีมากยิ่งขึ้น
โอเมก้า 6 พบมากในนํ้ามันพืชชนิดต่างๆ เช่น นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันดอกทานตะวัน นํ้ามันรำข้าว นํ้ามันข้าวโพด นํ้ามันพรีมโรส นํ้ามันมะกอก ข้อสำคัญคือควรใช้กรรมวิธีการปรุงอาหารแบบใช้ความร้อนไม่มากนัก
ไขมันดี จาก กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวพบมากใน นํ้ามันมะกอก อะโวคาโด
อัลมอนด์ พิตาชิโอ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ประโยชน์ของการกินกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวมีส่วนช่วยในกลไกการลดหนัก ช่วยยับยั้งการกลับมาเพิ่มขึ้นของนํ้าหนักตัว

คำแนะนำการกินไขมันดีต่อผู้ที่ต้องการลดและควบคุมนํ้าหนัก
ควรออกกำลังกายเป็นประจำ เลือกใช้นํ้ามันเพื่อปรุงอาหารในปริมาณน้อยๆ เลือกอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม หรือผัดนํ้ามันน้อยเป็นหลัก หรือเรียกง่ายๆ ว่า เลี่ยงอาหารทอดหรืออาหารที่ใช้นํ้ามันเยอะนั่นเอง
พญ.ธิดากานต์ ทิ้งท้ายไว้ว่า อย่าเหมารวมว่าอาหารประเภทไขมันทั้งหมดไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะอาหารประเภทไขมันมีทั้งไขมันดี และไขมันไม่ดี ควรรู้จักเลือกกินอาหารที่มีไขมันดีและเลี่ยงอาหารที่มีไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ก็จะทำให้การกินไขมันเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อการมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ควรกินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการครบ 5 หมู่ ลดรสชาติหวาน มันและเค็มลง รวมถึงกินผักผลไม้ให้ได้ถึงวันละ 400 กรัมตามที่ สสส. แนะนำ โดยในแต่ละวัน แต่ละมื้ออาหาร ควรกินอาหารที่มีปริมาณพอเหมาะ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสมํ่าเสมอ

ร่วมแสดงความคิดเห็น