ไทย-ยุ่นจับเข่าถกเกษตร & อุตฯ

b7-w9h6-7ก.เกษตรฯ เจ้าภาพจัดการประชุมหารือความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ครั้งที่ 1 ลุยหารือด้านนโยบายการเกษตรและประเด็นริเริ่มใหม่ หวังผลักดันความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างทั้งสองประเทศ สนองนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบายลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ และการทำการเกษตรแบบยั่งยืน

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมหารือความร่วมมือระดับสูงในครั้งนี้ ได้มีนายฮิโระมิจิ มะสึชิมะ ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (Mr. Hiromichi MATSUSHIMA, Vice Minister, Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries) เป็นประธานฝ่ายญี่ปุ่น ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวเป็นนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent: MOI) ว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ตามที่ผู้นำของทั้งสองประเทศได้เห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งรัดจัดทำเอกสารความร่วมมือดังกล่าว โดยกรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA)

นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า โดยการประชุมหารือความร่วมมือระดับสูงระหว่างไทยและญี่ปุ่น ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.การประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐในช่วงเช้า โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น เป็นประธานร่วม โดยจะหารือในประเด็นด้านนโยบาย ประเด็นริเริ่มใหม่ รวมถึงประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเร่งรัดการดำเนินงานภายใต้กรอบ ดังนี้ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและสัตว์ ความร่วมมือด้านการชลประทาน การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรและอาหาร และการสนับสนุนเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ของไทย จะเสนอให้กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่น ร่วมกันจัดทำ MOU การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (MOU-IUU) อีกด้วย ส่วนข้อ 2.จะเป็นการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ ประมงญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชน ได้แก่ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาเยคาว่า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นประธานร่วมจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยจะเป็นการนำเสนอด้านนโยบายของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ เช่น สถานการณ์ด้านการเกษตรและอาหารของไทย รวมถึงแผนพัฒนาการเกษตรฯ ฉบับที่ 12 นโยบาย World Food Valley นโยบาย Thailand 4.0 และการลงทุนใน Food Clusterความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน (PPP) และการพัฒนาทางการเกษตรแบบสมัยใหม่ เป็นต้น

ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การประชุมหารือความร่วมมือฯ ดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ในการเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) และเป็นโอกาสให้ประเทศไทย สามารถผลักดันประเด็นด้านนโยบาย ประเด็นริเริ่มใหม่ และประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ JTEPA นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น จะได้มีโอกาสหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในด้านนโยบายร่วมกัน รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมาย กฎระเบียบด้านการเกษตรและอาหารที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้บังคับ ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมรองรับได้ทันสถานการณ์ ตลอดทั้งขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหาร และเพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน

โดยกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายในการพัฒนาภาคการเกษตร จากการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นการเกษตรที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย รวมทั้งมีนโยบายลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร การทำเกษตรอินทรีย์ และการทำการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยน และร่วมกันผลักดันประเด็นความร่วมมือ ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร รวมทั้งความร่วมมือในสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นประโยชน์ของเกษตรกร และภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศเป็นสำคัญ นายธีรภัทร กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น