อบรมครูภาษาอังกฤษแบบเข้ม (Boot Camp) ภูมิภาคเหนือ รุ่นที่ 1

b-1-jpg ศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ภาคเหนือ จัดการอบรมโครงการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 1ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2559 โดยมีดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม นายฐิตติณัฐ ศักดิ์ธนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ในฐานะประธานศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ภาคเหนือ กล่าวรายงาน ณ.ศูนย์อบรมภาคเหนือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

b-2-jpg

ดร.สิทธิชัย มูลเขียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 34 กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าโครงการพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (Boot Camp) เป็นการอบรมครูภาษาอังกฤษแบบเข้ม (Boot Camp) ระดับภูมิภาค รุ่นที่ 1 เป็นโครงการตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการแถลงข่าว การจัดตั้งศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุม 1 อาคาร สพฐ.4 ที่ผ่านมา และเป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากการอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม (Boot Camp) ให้กับครูผู้สอนภาษาอังกฤษชาวไทย เมื่อช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2559 ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งเหตุผลและความจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการต้องให้มีการจัดอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม (Boot Camp) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค คือ

ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและการสื่อสารภาษาอังกฤษ ดังเช่นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทสำคัญในโลกไร้พรมแดนที่คนทั้งโลกใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารกัน แต่คนไทยพูดภาษาอังกฤษได้เพียงร้อยละ 10 ,ความสามารถด้านภาษาอังกฤษของคนไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ รวมทั้งด้านการศึกษาพบว่าคะแนนเฉลี่ย O-NET ในรายวิชาภาษาอังกฤษในทุกช่วงชั้นยังต่ำว่าร้อยละ 50,ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่ใช้ในการสื่อสารของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียน การเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ต้องใช้ภาษาอังกฤษ และความจำเป็นในการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรมก็เชื่อมโยงกับภาษาอังกฤษ

b-3-jpg จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กระทรวงศึกษาธิการต้องแก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของคนไทยอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการปรับหลักสูตรด้วยการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ การพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษ เป็นต้น สำหรับการอบรม Boot Camp ในภูมิภาค คือ การอบรมภาษาอังกฤษแบบเข้ม ใช้เวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากการอบรมในอดีตที่มีการอบรมเพียงไม่กี่วันซึ่งไม่ได้รับการอบรมอย่างเข้มข้น และจะพยายามไม่ดึงครูออกนอกห้องเรียนด้วยการอบรมในช่วงของการปิดภาคเรียน ต้องขอขอบคุณ คุณครูที่เข้ารับการอบรม ตลอดจนวิทยากร ที่ได้เสียสละเวลาสำหรับการอบรมครั้งนี้

นายฐิตติณัฐ ศักดิ์ธนานนท์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ประธานศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค : ภาคเหนือ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วนในการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กระทรวงศึกษาธิการ โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เพื่อจัดตั้งศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาคขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อาชีวศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยสถาบันภาษาอังกฤษ ร่วมกับ ศูนย์อบรมครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค ศูนย์ภาคเหนือโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จึงได้จัดโครงการอบรมครูภาษาอังกฤษแบบเข้มระดับภูมิภาค รุ่นที่ 1 ขึ้น ในวันที่ 17 ตุลาคม ถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์1.เพื่อพัฒนายกระดับความรู้ความเข้าใจและเทคนิคการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารของครูสอนภาษาอังกฤษ 2.เพื่อพัฒนายกระดับภาษาอังกฤษของครูสอนภาษาอังกฤษ3.เพื่อพัฒนาศักยภาพการเป็นวิทยากร สำหรับครูผู้สอนภาษาอังกฤษกลุ่ม Master Trainer 4.เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จและแนวทางการปรับปรุงในการอบรมครั้งนี้ มีครูผู้สอนภาษาอังกฤษที่ผ่านการสอบวัดความรู้ความสามารถภาษาอังกฤษ CEFR ตั้งแต่ระดับ B1 ขึ้นไป เข้ารับการอบรมจำนวน 75 คน วิทยากรเจ้าของภาษา จากบริติช เคานซิล จำนวน 3 คน และครูวิทยากรแกนนำ Master Trainer จำนวน 3 คน

b-4-jpg
ดร.จิราภรณ์ สุภิสิงห์ ผู้จัดการศูนย์พัฒนาครูภาษาอังกฤษระดับภูมิภาค (ภาคเหนือ : โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) กล่าวเพิ่มเติมว่าโครงการนี้คาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในทักษะทางด้านภาษาอังกฤษทั้งสี่ด้านได้แก่ การฟัง พูด อ่านและเขียน รวมถึงเทคนิคการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบ Communicative approach และสามารถนำความรู้ แนวคิดและแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก

การอบรมไปปรับใช้ในการจัดการเรียนสอนวิชาภาษาอังกฤษใน โรงเรียนของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลเป็นรูปธรรม สร้างวิทยากรในกลุ่ม Master Trainer ได้รับการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพการเป็นวิทยากรเพื่อให้สามารถดำเนินการจัดการอบรมการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบ Communicative approach ได้ด้วยตนเองในอนาคตอันใกล้อันเป็นแนวทางสู่การพัฒนาบุคลากรครูภาษาอังกฤษในสังกัดของ สพฐ. อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน สถาบันภาษาอังกฤษมีโอกาสศึกษาถึงปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการและผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อใช้จัดทำเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดในการพัฒนาครูภาษาอังกฤษในสังกัดของ สพฐ. ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น