ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

p13
หลายคนคงเคยทรมานกับอาการปวดหลังร้าวลงขา ไปถึงน่องหรือหลังเท้าข้างใดข้างหนึ่ง บางคนเจ็บข้อพับเข่าด้านหลัง ปวดน่อง นิ้วเท้าชาหลังเล่นกีฬาแล้วเข้าใจผิดคิดว่ากล้ามเนื้ออักเสบ แต่เมื่อตรวจอย่างละเอียดด้วย MRI แล้วพบว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท คือการที่หมอนรองกระดูกสันหลังของเราปลิ้น โป่ง
ออกมาจากแนวกระดูกสันหลังจนไปเบียดทับกับเส้นประสาทรอบๆ แนวกระดูกสันหลังหรือเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกอาจฉีกขาดจนทำให้ของเหลวลักษณะคล้ายเจลที่อยู่ภายในไปกดทับเส้นประสาทโดยรอบแนวกระดูกสันหลังนั่นเอง
สาเหตุของภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
1.เกิดจากการยกของหนัก ส่วนใหญ่เกิดจากการยกที่ผิดท่า
2.เกิดจากการเล่นกอล์ฟเล่นเทนนิสแล้วบิดตัวอย่างรวดเร็วผิดจังหวะ
3.เกิดจากการนั่งทำงานหน้าคอมเป็นเวลานาน
4.เกิดจากการนั่งขับรถเป็นเวลานาน
5.เกิดจากการหกล้ม
6.เกิดจากการทำงานบ้านที่ต้องก้มๆ เงยๆ บ่อยๆ อาการของภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการอาจแสดงออกได้ทั้งบริเวณหลังและขา คนทั่วไปมักเข้าใจว่ามีเพียงอาการปวดหลังอย่างเดียว ที่จริงแล้วอาการที่ขานั้นสำคัญและจำเพาะเจาะจงกับโรคนี้มากกว่า นั่นแสดงถึงว่าเกิดการรบกวนเส้นประสาทสันหลังที่วิ่งไปเลี้ยงที่ขาแล้ว หมอนรองกระดูกที่เคลื่อนออกมามักทำให้เกิดอาการแบบฉับพลันเพราะมีการอักเสบที่รุนแรง
อาการที่หลัง ปวดหลังบริเวณเอวส่วนล่าง อาจมีอาการที่หลังเพียงข้างเดียวหรือสองข้าง มักมีอาการในท่านั่ง หรือมีการนั่งงอตัวไปทางด้านหน้าซึ่งเป็นท่าที่หมอนรองกระดูกได้รับแรงกดทับมากที่สุด
อาการที่ขา อาการแสดงที่ขามีได้ 3 แบบ คืออาการปวด ชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ
อาการปวดหรือชาขาที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีลักษณะคือ มีอาการตามแนวที่เส้นประสาทวิ่งไป สามารถปวด
ได้ตั้งแต่บริเวณเอว ต้นขา น่อง ไปจนถึงบริเวณเท้า
และนิ้วเท้าได้ การอ่อนแรงของกล้ามเนื้อก็มี
ลักษณะคล้ายอาการปวดและชา คือจะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมัดที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับ
การรักษา ส่วนใหญ่สามารถรักษาหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ร่วมกับให้ยาลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นรอบๆ เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกสันหลัง จะทำให้อาการปวดลดลงได้
และอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงแพทย์จะผ่าตัดเพื่อตัดเอาส่วนที่กดทับเส้นประสาทออก ร่วมกับ
การทำกายภาพบำบัดเพื่อช่วยลดอาการเกร็ง และบิดตัวของกล้ามเนื้อหลังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว
การป้องกัน แนวทางการป้องกันคือ การใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังในชีวิตประจำวันอย่างถูกวิธี ในช่วงเวลาทำงานโดยการหลีกเลี่ยงการนั่ง ยืน เดิน เป็นระยะเวลานานๆ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ลดนํ้าหนักให้สมดุลกับร่างกาย งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการยกของหนักและควรออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้อง เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบกระดูกสันหลังแข็งแรง สามารถช่วยพยุงให้ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้
ฉะนั้นเมื่อคุณมีอาการปวดหลังร้าวลงขาเป็นเวลานานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาก่อนที่จะมีอาการปวดมากขึ้นเนื่องจากหมอนรองกระดูกเสียหายมากขึ้น ทำให้ยากต่อการรักษามากตามไปด้วย ที่สำคัญอย่าลืมดูแลและป้องกันตัวเองเพื่อที่จะให้ห่างไกลจากภาวะนี้

รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น