ทุกหน่วยงานร่วมพิธีวันปิยะมหาราชยิ่งใหญ่..

%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a-%e0%b9%80%e0%b8%8a%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88

จังหวัดเชียงใหม่ประกอบพิธีเนื่องในวันปิยมหาราช ข้าราชการประชาชนร่วมพิธีหนาแน่น “ปวิณ” คำกล่าวถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณและอุทิศส่วนกุศลถวาย หลังวางพวงมาลา สดุดีพระราชกรณียกิจสุดคณานับ ยกให้การตรากฎหมายเลิกทาสเป็นผลงานเอกอุ ทำให้คนไทยมีความเท่าเทียมกันตราบจนวันนี้ พร้อมย้ำการปกครองที่ดุจบิดาบำเพ็ญต่อบุตร กระทั่งได้รับขนานพระนามพระองค์ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง”
วันที่ 23 ต.ค.59 ที่ลานหญ้าหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดเชียงใหม่ประกอบพิธีเนื่องในวันปิยมหาราช ประจำปี 2559 โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น. เจ้านายฝ่ายเหนือ กงสุลต่างประเทศ หน่วยงานราชการพลเรือน ตุลาการ อัยการ ทหาร ตำรวจ อำเภอ สถาบันการศึกษา กำนันผู้ใหญ่บ้านฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคม ชมรม สโมสร องค์กรและสถาบันต่างๆ ทยอยนำพวงมาลาถวายบังคมเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทั่งเวลา 07.30 น. ผู้เข้าร่วมพิธีเข้ามายืนชุมนุมพร้อมกับบริเวณลานเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อรอการประกอบพิธี
เวลา 08.00 น. นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในพิธี เริ่มประกอบพิธีเนื่องในวันปิยมหาราช โดยวางพวงมาลาและถวายบังคมในนามของประชาชนชาวจังหวัดเชียงใหม่ทุกหมู่เหล้า จากนั้นได้อ่านคำกล่าวถวายราชสดุดีพระเกียรติคุณและอุทิศส่วนกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “สมเด็จพระปิยมหาราช” ความว่า เนื่องในอภิลักขิตสมัยแห่งวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชเจ้า ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้พร้อมกันมาแสดงความกตัญญูกตเวทิตาคุณร่วมกันบำเพ็ญกุศลถวาย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงอันเป็นคุณประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์และสยามประเทศ
“พระราชกรณียกิจตลอดรัชสมัยของพระองค์ท่านมีมากมายเป็นอเนกประการเหลือที่จะพรรณนาได้ ซึ่งจะขอหยิบยกเฉพาะพระราชกรณียกิจที่สำคัญบางประการมากล่าวไว้ในที่นี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติคุณของพระองค์พอสังเขป ดังนี้ กิจการภายในประเทศ ได้ทรงยกเลิกการปกครองแบบจตุสดมภ์ โดยจัดตั้งเป็นกระทรวง ทบวง กรม มีการแบ่งการบริหารราชการออกเป็นสัดส่วน ทรงยกเลิกจารีตนครบาล ทั้งตั้งศาลสถิตยุติธรรม ชำระคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวง ทรงส่งเสริมและขยายการศึกษาให้แพร่หลาย ทรงจัดตั้งโรงพยาบาล สุขาภิบาล ทรงสร้างทางหลวงแผ่นดิน การรถไฟ โทรศัพท์ การไปรษณีย์ โทรเลข การไฟฟ้า การประปา และการชลประทาน” ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวสดุดี
ประการสำคัญที่สุดก็คือ ทรงตรากฎหมายเลิกทาส อันเป็นผลให้ประชาชนคนไทยมีความเป็นไทเท่าเทียมกัน ตราบจนทุกวันนี้ ด้านการต่างประเทศ พระองค์ได้ทรงดำเนินวิเทโศบายอันสุขุมคัมภีรภาพในการระงับข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดกับประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง อันเป็นผลให้ประเทศชาติรอดพ้นจากภัยพิบัติได้ตราบเท่าทุกวันนี้
“จะเห็นได้ว่า ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ จนสามารถกล่าวได้ว่า ทัดเทียมกับนานานอารยะประเทศ อันเป็นมูลฐานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติและประชาชนชาวไทยมาตราบจนปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินพระราโชบายของพระองค์คือ การบำเพ็ญพระองค์ต่ออาณาประชาราษฎร์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมประดุจบิดาบำเพ็ญต่อบุตร จนทำให้ราษฎรนิยมรักใคร่ เทิดทูนบูชาพระองค์เป็นอย่างมาก ถึงกับขนานพระนามพระองค์ว่า “พระพุทธเจ้าหลวง” และ “พระปิยมหาราช” ซึ่งหมายถึง พระมหาราชอันเป็นที่รักของประชาราษฎร์ทั้งปวง” นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวเป็นราชสดุดี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช” เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และเป็นองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ตรงกับวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู เถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2411 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ขณะมีพระชนมายุได้ 57 พรรษา รวมเวลาครองราชย์ 42 ปี
พระบาทสมเด็จพระปริมทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพมหากุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรสิริวัฒนราชกุมาร” ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกจากสำนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 3 ผู้ทรงรอบรู้ด้านอักษรศาสตร์ และโบราณราชประเพณีอย่างดียิ่ง นอกจากนั้นทรงศึกษาภาษามคธกับพระปริยัติธรรมธาดา(เนียม) เมื่อเป็นหลวงราชาภิรมย์ กรมราชบัณฑิต ทรงศึกษาวิชาการยิ่งปืนไฟจากสำนัก พระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) ทรงศึกษาวิชาคชกรรม กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และวิชาอื่นๆ อันสมควรแก่บรมราชกุมาร
นอกจากนี้ ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษ จากชาวต่างประเทศโดยตรง คือ นางแอนนาเลียวโนแวนส์ ครูสตรีชาวอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษากับหมอจันดเล ชาวอเมริกัน และ เมื่อเสวยราชสมบัติแล้ว พ.ศ.2416 ได้ทรงศึกษา ได้ทรงศึกษากับครูชาวอังกฤษ ชื่อฟรานซิส ยอร์จ แพตเตอสัน ต่อมาก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาด้วยพระองค์เองจนมี ความรู้ภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน
ในด้านวิชารัฐศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นผู้พระราชทานการฝึกสอนด้วยพระองค์เองตลอดมา หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2411 เหล่าเสนาบดีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเถลิงราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 ขณะนั้นทรงพระชนมายุเพียง 14 พรรษา สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ รับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ระหว่างนั้นพระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศ คือ อินเดีย และชวา เพื่อทอดพระเนตรวิทยาการสมัยใหม่ที่ ประเทศทางตะวันตกนำมาเผยแพร่เพื่อนำเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป
เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่นคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้
พระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัติย์ที่ทรงตั้งอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย เป็นที่พึ่งตลอดระยะเวลายาวนานถึง 42 ปี ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนาเป็นเอนกนานัปการ เช่น โปรดให้ยกเลิกประเพณีหมอบคลานและกราบ โดยให้ใช้ยืนและคำนับแทน โปรดให้เลิกทาส ตั้งโรงเรียนหลวงสอนทั้งภาษาไทยและอังกฤษ โปรดให้มีการสอบชิงทุนหลวงไปศึกษาในต่างประเทศ ทรงปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม และแบ่งหน้าที่ราชการให้เป็นสัดส่วน ไม่ก้าวก่ายกัน ในส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าเป็นมณฑล ส่วนในจังหวัดหนึ่งๆ ก็ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดดูแลรับผิดชอบ อาณาเขตจังหวัดก็แบ่งเป็นอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โปรดให้จัดการในเรื่องการสุขาภิบาล การบำรุงท้องที่ การไปรษณีย์ การโทรเลข การไฟฟ้า การรถไฟ โปรดให้ตั้งกระทรวงสำคัญๆ ต่างๆ และกิจการในด้านศาลยุติธรรม โปรดให้จัดการตำรวจภูธร ใช้กฎหมายการเกณฑ์ทหารเมื่อชาติต้องการหรือมีเหตุการณ์ฉุกเฉินและเกิดสงคราม และการสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น