ภาวะสายตายาวตามวัย

77ภาวะสายตายาวตามวัย คือ ภาวะที่ความสามารถในการเพ่งมองวัตถุที่อยู่ใกล้ลดลงตามวัย เกิดขึ้นเนื่องจากเลนส์แข็งตึงขึ้น และกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งอ่อนแรงลง มักเริ่มมีอาการในคนอายุประมาณ 40 ปี เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับภาวะนี้ วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าเริ่มมีภาวะนี้ คือ จากเดิมที่เคยอ่าน เขียนหนังสือที่ระยะห่างจากตา 1 ฟุต แล้วชัด แต่ตอนนี้กลับไม่ชัด ต้องใช้วิธีเลื่อนหนังสือออก หรือบางคนอาจต้องหรี่ตาให้เล็กลง เพื่อช่วยให้อ่านหนังสือชัดขึ้น อาการมองใกล้ไม่ชัด แต่ในบางคนอาจจะมีอาการแสบตา เคืองตา ปวดตา ปวดศีรษะ ก็ได้ เนื่องจากเมื่อมองไม่เห็นก็จะพยายามเพ่งมากขึ้น จึงมีอาการดังกล่าวตามมา การแก้ไขรักษา

1.แว่นสายตา มีทางเลือกมากมายให้เราใช้ ทั้งนี้ก็ปรับตามความสะดวก และตามลักษณะชีวิตของแต่ละคน

1.1 แว่นเฉพาะมองใกล้ (Reading glasses) โดยเมื่อมองไกลก็ถอดแว่นออก ลักษณะนี้ก็จะเหมาะกับคนที่เดิมมีสายตาปกติอยู่ แต่จะไม่เหมาะกับคนที่อยากมองเห็นทั้งใกล้และไกลในเวลาเดียวกัน หรือไม่อยากพกแว่น

1.2 แว่น 2 ชั้น (Bifocal glasses) แว่นชนิดนี้ที่มีเลนส์จะเห็นรอยต่อชัดเจน มองไกลใช้เลนส์ด้านบน และมองใกล้ใช้เลนส์ด้านล่าง ก็จะสะดวก ใช้ง่าย ฝึกไม่นาน ทุกคนใช้ได้ แต่บางคนอาจไม่ชอบเนื่องจากกลัวว่าใส่แล้วจะดูแก่

1.3 แว่นหลายโฟกัส(Progressive glasses) แว่นชนิดนี้แต่ละระดับของเลนส์จะมีค่าสายตาแตกต่างกันลดหลั่นกันลงมา ปรับระยะตั้งแต่ไกลถึงใกล้ โดยไม่มีรอยต่อให้เห็นที่เลนส์ ข้อดี คือ หากใช้ได้จะสะดวกมาก เห็นชัด
ทุกระยะ สวยงาม ดูดี แต่ไม่ใช่ทุกคนจะใช้ได้ ต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้นเคย เพราะเวลามองภาพอาจเคลื่อนที่ได้ มองข้างๆ ก็จะบิดเบี้ยว ทำให้มึนงงได้ แนะนำว่าอย่าชำเลืองหรือเหลือบตาดู เพราะจะทำให้ไปมองตรงด้านข้างเลนส์ ให้หันหน้าไปมองตรงๆ เลย

2. เลนส์สัมผัส ก็จะสนองความต้องการของผู้ที่ไม่อยากใช้แว่น เลนส์จะมี 2 โฟกัส แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เรื่องกำลังขยายยังจำกัดและยุ่งยากในการใช้

3.Monovision เหมาะสมกับผู้ที่ไม่อยากใช้แว่น 2 ชั้น และแว่น progressive โดยจะทำเลนส์ข้างหนึ่งสำหรับมองไกล อีกข้างหนึ่งสำหรับมองใกล้ ยกตัวอย่างดังในภาพที่ใช้ตาขวามองไกล และตาซ้ายมองใกล้ แต่ต้องฝึกฝนก่อน เนื่องจากมีเทคนิคเฉพาะ มักจะใช้ตาข้างถนัด/ ดีกว่า มองใกล้ และใช้อีกข้างมองไกล มีข้อเสีย คือ การกะระยะจะด้อยลง

พญ.เกศณี กุลวานิช
จักษุแพทย์, ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง
โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลเซ็นเตอร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น