พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง…วัดต้นแก้ว

dsc_9397

นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมานมัสการองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย พระธาตุประจำเมืองลำพูนแล้ว ลองแวะเดินข้ามสะพานท่าสิงห์บริเวณหน้าวัดพระธาตุไปชมวิถีชีวิตของชุมชนไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ที่บ้านเวียงยองสักครั้ง เพราะชุมชนแห่งนี้ยังคงดำรงวิถีแห่งชีวิตของผู้คนชาวยองที่สืบทอดต่อมาเมื่อราวร้อยกว่าปีเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

ชุมชนบ้านเวียงยอง เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองในยุคต้นของล้านนา เมื่อครั้งที่พระเจ้ากาวิละทรงยกทัพขึ้นไปตีหัวเมืองต่างๆ ในเขตภาคเหนือ อันได้แก่ เมืองยอง เมืองวะ เมืองลวง เมืองสาด เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงแสนจนถึงดินแดนสิบสองปันนา แล้วอพยพผู้คนเหล่านี้ให้เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตเชียงใหม่ ลำพูนเรื่อยไปถึงลำปาง ทว่าชุมชนที่โดดเด่นในเรื่องการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตผู้คนที่ยังคงพบเห็นสืบต่อกันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นชุมชนบ้านเวียงยอง

นอกจากวิถีแห่งการดำรงชีวิตอันเรียบง่าย สงบงามแล้ว ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของผู้คนที่นี่ก็มีความสำคัญไม่น้อย ยิ่งโดยเฉพาะในท่ามกลางสังคมเมืองที่เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านเวียงยองยังคงอนุรักษ์รักษาศิลปวัฒนธรรมประเพณีของชาวเมืองยองเอาไว้ เห็นได้จากเมืองเข้าไปในวัดต้นแก้ว จะมีกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองของผู้สูงอายุ ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยคนทอผ้าเป็นช่างทออยู่เคยทอผ้าอยู่คุ้มเจ้าหลวงลำพูน นอกจากนั้นผู้สูงอายุบางคนยังเคยทำงานอยู่ในโรงทอผ้าของ แม่คำแว่น ไชยถวิล ซึ่งเป็นโรงทอผ้าเก่าแก่ที่สุดของเมืองลำพูน

dsc_9413dsc_9401

ปัจจุบันทางกลุ่มทอผ้าผู้สูงอายุวัดต้นแก้วได้มีการทอผ้ายกเชิง ผ้าไหมแกมฝ้ายลายดอกพิกุล หรือดอกแก้วอันเป็นที่มาของชื่อวัดคือ “วัดต้นแก้ว” ซึ่งถือเป็นลายผ้าเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำพูน

นอกจากนั้นในบริเวณวัดยังมีการจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยอง ก่อตั้งโดยพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วเมื่อปี พ.ศ.2530 พระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสเล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นเก็บสะสมของโบราณมาเมื่อราว 20 กว่าปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นวิถีชีวิตของชาวยองในอดีตในการทำไร่ ทำนา จึงได้เก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ คุตีข้าว ล้อเกวียน เมื่อมีสิ่งของมากขึ้นก็จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ภายในวัด พอญาติโยมเดินทางมาทำบุญที่วัดเห็นเข้าบางคนก็นำสิ่งของเก่าๆ มาบริจาคมากขึ้นเรื่อยๆ

พอมีของมากขึ้นก็ได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้วขึ้น โดยเอาอาคารกุฏิเก่าทำเป็นพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าโบราณหายาก ทั้งภาพโบราณเมืองลำพูน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน พระเครื่อง พัดยศ รวมไปถึงผ้าทอโบราณ จนกระทั่งปี พ.ศ.2545 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนได้ก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองขึ้นในบริเวณวัดต้นแก้ว เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สมบูรณ์แบบ จึงได้ย้ายข้าวของเครื่องใช้มาไว้ในตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ปัจจุบัน

dsc_9407

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเก็บรวบรวมของโบราณหาชมยากกว่า 1,000 ชิ้น เช่น หีบพระธรรม พระเครื่องเก่าแก่ของลำพูน ถ้วยชาม วิทยุโทรทัศน์เก่า ภาพโบราณ เอกสารหนังสือเก่า รวมถึงผ้าทอโบราณของชาวเวียงยอง ที่ขึ้นชื่อได้แก่ ผ้าซิ่นอายุ 106 ปี ของเจ้าแม่ฟองคำ ณ ลำพูน และผ้าซิ่นของแม่บัวเขียว

ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมสมณศักดิ์พัดยศของเจ้าอาวาสต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีพัดยศของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงลำพูน ที่ท่านนำมาถวายกฐินครั้งแรกของวัดต้นแก้วในโอกาสทำบุญอายุของเจ้าจักรคำฯ ครบ 60 ปี เมื่อพ.ศ.2478

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดต้นแก้ว จึงถือเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของชุมชนชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองยองไว้อย่างครบถ้วน ซึ่งหากเทียบเคียงก็คงคล้ายๆ กับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนวัดเกต จ.เชียงใหม่ ที่คนรุ่นหลังจะได้ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของอดีตกาลแห่งชาติพันธุ์ไตลื้อที่นับว่ามีคุณค่าที่สุด

สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชาวยองวัดต้นแก้ว สามารถติดต่อโดยตรงที่พระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้ว รองเจ้าคณะตำบลเวียงยอง 081-706-2612, 053-512007

dsc_9403

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น