ดันธุรกิจบริการไทย นำร่องบุกเวทีโลก

b5-w9h6-16
กระทรวงพาณิชย์มุ่งสร้างโอกาสทางการค้าภาค “ธุรกิจบริการ” ของไทยสู่เวทีโลก นำร่อง 3 สาขาธุรกิจที่มีศักยภาพของไทย ยกทัพขึ้นเหนือระดมสมอง จัดทำ(ร่าง)ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการ ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มุ่งสนับสนุนให้ธุรกิจบริการมีความเข้มแข็งสามารถออกไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน
เมือ่วันที่ผ่านมา นายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการสัมมนาระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 3 (ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์ฯ) (ร่าง) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการ ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้จำนวน 57 หน่วยงาน 91 ราย ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จ.เชียงใหม่
สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีและภาคการค้าบริการจะมีบทบาทมากขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลก มีการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีหรือ FTA ในการส่งเสริมการลงทุนการค้ายุคใหม่ให้มีความเชื่อมโยงทุกๆด้าน ทั้งเรื่องของแรงงาน สิ่งแวดล้อม มนุษยชน กฎระเบียบกติกาทางการค้าและมาตรการกีดกันทางการค้าใหม่ๆ ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐบาล เอกชนและภาคการศึกษา ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวอย่างมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนและบูรณาการร่วมกันเพื่อให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ในอนาคต
ทั้งนี้ภาคธุรกิจบริการได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกรวมถึงประเทศไทย จะเห็นได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างเช่น มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 ของมูลค่า GDP รวม จำนวนการจ้างงานและจำนวนของห้างร้านหรือบริษัทต่างๆ ก็ล้วนแต่สะท้อนความสำคัญของภาคบริการทั้งสิ้น และเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศไทยสามารถเติบโตและขับเคลื่อนโดยภาคบริการอย่างเต็มรูปแบบนั้น ทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดทำโครงการยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนและพัฒนาต้นแบบธุรกิจบริการ ปี 2560-2562 โดยมีสาขาธุรกิจบริการนำร่อง ได้แก่ บริการโลจิสติกส์ บริการด้านสุขภาพและความงาม และบริการดิจิทัล คอนเทนต์ ซึ่งการดำเนินโครงการอยู่ระหว่างการระดมสมองในส่วนภูมิภาค โดยจัดไปแล้ว 2 ครั้งที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและจังหวัดชลบุรี และในวันี้ก็ได้มาจัดที่จังหวัดเชียงใหม่
โดยนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น ที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า จังหวัดเชียงใหม่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจบริการของภาคเหนือตอนบน มีหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการที่มีการพัฒนาในด้านของธุรกิจบริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการสัมมนาระดมความคิดเห็นครั้งนี้ มีการนำเสนอกรอบการพัฒนา (ร่าง)ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการเป้าหมายในระยะที่ 1 ปีพ. ศ. 2560 -2562 ใน 3 สาขา คือ ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และธุรกิจบริการดิจิตอล โดยจะมีการประชุมกลุ่มย่อยระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนในสาขาบริการย่อยของทั้ง 3 สาขา โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลความคิดเห็นและแนวทาง เพื่อให้ยุทธศาสตร์ฯ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทำ(ร่าง)ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการของกระทรวงพาณิชย์ต่อไป หวังให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในสาขาธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องและประเทศอย่างสูงสุดอีกด้วย
ส่วนในช่วงบ่ายได้มีการประชุมย่อยระดมสมอง จากผู้ร่วมสัมมนาในครั้งนี้จำนวน 57 หน่วยงานในเชียงใหม่ รวม 91 ราย เกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุน รายสาขาบริการย่อย ได้แก่ ธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพ (Wellness business) , ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ (Logistics business) และ ธุรกิจบริการดิจิตอล (Digital business) ซึ่งสรุปได้คร่าวๆ ว่า ความเสียเปรียบของสินค้าไทยที่ส่งออกไปทางภาคใต้ คือ ต้องผ่านเอเย่นของมาเลเซียหรือสิงคโปร์ เพื่อส่งเข้าปีนังหรือมะละกา เช่นเดียวกับเส้นทางส่งสินค้าไปลาวหรือเขมรที่ไม่อนุญาตให้รถของฝั่งไทยวิ่งเข้าประเทศ ในส่วนของเชียงใหม่และภาคเหนือมีความได้เปรียบเรื่องของโครงสร้าง เพราะมีภูมิประเทศที่สามารถติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อบ้านได้ แต่ทั้งนี้เชียงใหม่ยังได้รับผลประโยชน์จากประเทศจีนน้อยอยู่ เนื่องจากยังไม่มียุทธศาสตร์การผลักดันในเรื่องนี้มากพอ ทั้งยังไม่มีโครงการอะไรมาลงหรือมาพัฒนาพื้นที่มากกว่านี้ ในส่วนของด้านของบุคลากรการพัฒนาคนภาคโลจิสติกส์ในภาคเหนือยังไม่ค่อยมากนัก ซึ่งจากข้อมูลทางเศรษฐกิจจากสภาพัฒน์จะเห็นได้ว่า ภาคเหนือและภาคอีสานมีความเจริญสูงขึ้นมาก ดูได้จากการคมนาคมขนส่งจาก 2 เลน เพิ่มเป็น 4 เลน ประตูการค้าทางภาคฝั่งอีสานถูกเปิดออกหมดแล้ว เพราะฉะนั้นทางภาคเหนือก็ต้องเปิดประตูการค้าให้หมดเช่นกัน โดยควรจะมุ่งไปที่ประตูฝั่งตะวันตกที่มีสถานที่ตั้งติดกับพม่า (แม่ฮ่องสอน) ถึงแม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งประเทศไทยควรมีโครงการที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติให้ได้ โดยไม่ต้องตัดป่าไม้ อย่างเช่น ที่ต่างประเทศมีทำการเจาะอุโมงค์ เป็นต้น ซึ่งคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยอีกประเทศหนึ่งก็คือเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติดีกว่าประเทศไทย ซึ่งหากเมียนมาพร้อมที่จะเปิดประเทศขึ้นมาเมื่อไร ประเทศไทยเองน่าอาจจะลำบากต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้การประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็น (ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์ฯ) (ร่าง) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการ ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์ จะเร่งดำเนินการและทำการสรุปความคิดเห็นจากทุกภูมิภาค เพื่อจัดทำ(ร่าง) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนของธุรกิจบริการ ให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น