ธพว.เดินหน้าสินเชื่อ หนุนเอสเอ็มอีไทย

b5-w9h6-17ธพว. เดินหน้าโมเดลหย่านมแม่ เพื่อเป็นการประกาศความเข้มแข็งธุรกิจเอสเอ็มอีไทยที่มีมากขึ้น

นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย( ธพว.)กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ SMEs ทางกระทรวงการคลังจึงอนุมัติเพิ่มทุนให้ ธพว.อีก 1,000 ล้านบาท เมื่อกันยายนที่ผ่านมา ทำให้ขณะนี้ฐานะของ ธพว.จึงแข็งแกร่งมั่นคง และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ เพื่อช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพ ธพว.จึงออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้ประกอบการ 2 โครงการ คือ สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท และสินเชื่อ Soft Loan 3 เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ วงเงินรวม 3,000 ล้าน ซึ่งเริ่มเดินสายเปิดตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดกว่า 20 แห่ง จนได้รับความร่วมมือดีมากจากทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คลังจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด จนมีคำขอกู้จากเอสเอ็มอีรายเล็กเข้ามาอย่างล้นหลาม

โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวช่วยสร้างโอกาสเข้าสู่แหล่งทุนของธนาคารทั้งด้านสินเชื่อและเติบโตไปสู่การร่วมลงทุน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเติบโตต่อไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนนโยบายการจัดทำบัญชีชุดเดียวของรัฐบาล และส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวมและการจ้างงานต่อไป

“สมชาย” กล่าวถึงแผนการพัฒนาในไตรมาส 4 ว่า ธพว.จะให้บริการทางการเงินเพื่อผลักดันการสร้างผู้ประกอบการในกลุ่ม S-Curve ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม และดำเนินการจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาจดทะเบียนเปลี่ยนกิจการเป็นนิติบุคคล เพื่อรองรับระบบ E-Payment บัญชีเดียว ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง

“โดยจะมีทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนสินเชื่อและร่วมลงทุนหนุนเสริมจัดทำเป็นโปรแกรมพิเศษ ขณะนี้เริ่มเห็นชัดว่าผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว โดยจากสถิติผู้มายื่นขอสินเชื่อที่ ธพว.กว่า 80% เป็นนิติบุคคล”
“นอกจากนั้นผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถมาขอคำปรึกษาในโครงการศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs Rescue Center) ได้ทุกสาขาของ ธพว. ทั้งในด้านรับคำร้องขอความช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะเราเป็นหน่วยงานหลักในการคัดกรองและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหาเดือดร้อนด้านการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาเราดำเนินการผลักดันลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมายฟื้นฟูใหม่ จนสำเร็จกลุ่มแรกจำนวน 4 ราย และจะทยอยอีกหลายร้อยรายเร็ว ๆ นี้”

“มงคล ลีลาธรรม” กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ถึงตอนนี้ ธพว.มีความพร้อมที่จะช่วยตัวเองโดยไม่ต้องเสนอโครงการขอชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นภาระของรัฐบาล จึงใช้โมเดลการทำงานว่าหย่านมแม่ เพื่อสื่อความหมายว่า เราต้องเติบโตด้วยตัวเองอย่างมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ต้องยืนหยัดทำหน้าที่ตามพันธกิจองค์กรไปสู่เป้าหมาย ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารนี้ต้องเดินและวิ่งสู่เส้นชัยด้วยตัวเอง มีความสามารถที่จะอยู่รอดในระยะยาว ไม่ให้เกิดความผิดพลาดการบริหารเช่นในอดีต”

“เราทำการปรับกระบวนทัพการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 4 เพื่อช่วยเหลือ SMEs และมุ่งสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเต็มรูปแบบ โดยเน้น 5 ด้าน คือ หนึ่ง ด้านพัฒนาระบบการให้บริการ เพื่อการอำนวยสินเชื่อและบริการลูกค้า สอง ด้านพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs สาม ด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงยั่งยืน สี่ ด้านพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาดเพื่อช่วยเหลือ SMEs ห้า ด้านพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็ง
ด้วยจริยธรรมธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ต้นแบบที่ดี มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ เพื่อรองรับภารกิจที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่มือผู้ประกอบการอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เราจึงร่วมทำงานกับพันธมิตรหลายภาคส่วน คือ ภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน บริษัทเอกชน และสถาบันการศึกษา”

ดังนั้นด้วยความเข้มแข็งที่มีมากขึ้น จึงเรียกว่า ธพว. กำลังดำเนินงานด้วยโมเดลหย่านมแม่ ที่พร้อมจะสนับสนุนทุกนโยบายของรัฐบาล และจะไม่เป็นภาระการช่วยเหลือด้านงบประมาณ แต่ยังคงเดินหน้าตามกรอบพันธกิจคือการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น