กรมชลประทาน เร่งเต็มสูบ เจาะอุโมงค์แม่งัด กำหนดอีก 5 ปีเสร็จ มั่นใจทำได้ตามแผน

3

กรมชลฯ เดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา กรมชลประทานเร่งรัดต่อยอดโครงการตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” เดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา หวังสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับ 3 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำปิง และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 76,129 ไร่ พร้อมยืนยันโครงการจะแล้วเสร็จตามแผนก่อสร้างในปี 2564

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.59 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายโสภณ ธรรมรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา(ด้านควบคุมการก่อสร้าง) กรมชลประทาน ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” งานเดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญาที่ 2 โครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ณ บ้านป่าสักงาม ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายณรงค์ ลีนานนท์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ

นายโสภณ เปิดเผยว่า การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวงดังกล่าว เป็นการเจาะในชั้นหินครั้งแรกของประเทศไทย โดยใช้ทั้งเทคนิคการขุดเจาะระเบิด (Drill & Blast) ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 4–6 เมตรต่อวัน และเทคนิคการใช้เครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine (TBM) ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เฉลี่ยประมาณ 12-20 เมตรต่อวัน การใช้เทคนิคผสมผสานกัน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาประสิทธิภาพความเหมาะสมทางเทคนิค ต้นทุน และความจำเป็นของสภาพแวดล้อม เช่น สภาพหิน โครงสร้างหิน น้ำใต้ดิน เพราะต้องดำเนินการเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีความลึกจากผิวดิน ประมาณ 300 เมตร จนถึง 700 เมตร ซึ่งการเจาะอุโมงค์ในช่วงนี้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร

สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณนํ้าในอ่างเก็บนํ้าเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ จะมีการดำเนินงานก่อสร้างเป็น 2 ช่วงคือ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง–แม่งัด ระยะทางตั้งแต่ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ซึ่งกั้นลำน้ำแม่แตง จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แบ่งออกเป็น 2 สัญญา มีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมกันทั้งสองสัญญาในปี พ.ศ.2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมงานเบื้องต้น ขอหนังสือรับรองเพื่อประกอบการขออนุญาตมีและใช้วัตถุระเบิดและอุปกรณ์ และเริ่มกระบวนการออกแบบจัดหาเครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด–แม่กวง ระยะทางตั้งแต่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จนถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แบ่งออกเป็น 2 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 มีความยาวอุโมงค์ 12.500 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการเมื่อปี พ.ศ.2558 กำหนดแล้วเสร็จปี พ.ศ.2564 ส่วนสัญญาที่ 2 มีความยาวอุโมงค์ 10.476 กิโลเมตร ได้เริ่มขุดเจาะในวันนี้ กำหนดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2562
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอาจจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เล็กน้อยเนื่องจากในช่วงก่อนที่จะเริ่มดำเนินการยังคงมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ประกอบกับการขุดระเบิดอุโมงค์ ผ่านหินไม่ดี (Poor Rock) ส่งผลให้การทำงานต้องมีขั้นตอนการปรับปรุงเสถียรภาพภายในอุโมงค์
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานให้กรมชลประทานดำเนินก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 เพื่อประโยชน์ด้านอุปโภค บริโภค และการเกษตร ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 175,000 ไร่ และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่แตง ลุ่มน้ำแม่งัด ลุ่มน้ำแม่กวง เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งความคืบหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยเฉพาะลุ่มน้ำแม่กวงที่มีความต้องการน้ำสูงขึ้น ทั้งด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเพิ่มเป็น 173 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงต้องมีโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) จะส่งน้ำส่วนเกินประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ในฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นจะส่งน้ำส่วนเกินของลำน้ำแม่แตงประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี รวมเป็นปริมาณน้ำที่ส่งผ่านอุโมงค์จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทั้งสิ้นประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ในลุ่มน้ำแม่กวง ทั้งด้านการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรมได้

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานยังมีโครงการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่อยู่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำย่อยของลุ่มน้ำปิง ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ทำให้มีความมั่นคงในเรื่องน้ำตลอดปี ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค ลดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแม่แตง รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ และยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในฤดูแล้งจาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ อีกด้วย

ด้านนายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการนี้มีความสำคัญต่อประชาชนชาวเชียงใหม่และลำพูนเป็นอย่างมาก ด้วยเชียงใหม่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ 3 แหล่งคือจากเขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด และจากฝายแม่แตง ในฐานะ ผวจ.เชียงใหม่ ต้องขอบคุณทางกรมชลประทานที่ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ หากโครงการแล้วเสร็จทั้งระบบในปี 2564 เชื่อว่าจังหวัดเชียงใหม่จะมีความมั่นคงด้านน้ำเพิ่มขึ้นมากว่าปัจจุบันโดยเฉพาะในช่วงแล้ง โดยในอนาคตคาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกราว 170 ล้าน ลบ.ม.จะบรรเทาลงไปได้

สำหรับความคืบหน้าของโครงการนี้ซึ่งมีอยู่หลายสัญญา เฉพาะโครงการที่ดำเนินการจากเขื่อนแม่กวงเข้าไปโดยการเจาะมีความคืบหน้าอย่างมาก มีการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดเสร็จสิ้นพร้อมทำงานแล้ว โดยได้รับการยืนยันจากทางกรมชลประทานว่าพื้นที่ตรงนี้จะเป็นไปตามสัญญาก่อสร้างอย่างแน่นอน ส่วนอีกสัญญายังติดปัญหาเรื่องการขออนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่า โดยข้อเท็จจริงแล้วได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์แล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำแผนที่เพื่อแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โครงการบางจุดอาจดูล่าช้าหากแต่ได้รับการประกาศเป็นกฎหมายแล้วก็จะดำเนินการได้ทันที ซึ่งคาดว่าใช้เวลาอีกไม่นาน แต่โดยภาพรวมของการดำเนินการทั้งโครงการทางกรมชลประทานยังยืนยันว่า การก่อสร้างสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนในปี 2564

ต่อคำถามที่ว่าในพื้นที่บ้านแม่ตะมานที่ยังมีปัญหากับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการก่อสร้างในช่วงแม่แตง-แม่งัด จ.เชียงใหม่ มีการดำเนินการอย่างไรบ้าง นายปวิณ ชำนิประศาสน์ กล่าวว่า ในทุกโครงการที่มีการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ เกี่ยวกับเรื่องนี้จังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบ และจากการลงพื้นที่พบว่าแรกๆ ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลว่าหากนำน้ำจากแม่แตงมาเติมให้แม่งัดแล้วน้ำที่แม่แตงขาดแคลนจะทำอย่างไร ปัญหานี้ทางกรมชลประทานได้แก้ไขโดยการทำโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดกลับไปให้พื้นที่แม่แตงอีกโครงการ ประเด็นปัญหานี้ก็คลายลงไปเพราะทั้ง 2 พื้นที่ได้น้ำใช้ร่วมกัน

“สำหรับอีกปัญหาคือเรื่องผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในพื้นที่ โดยเฉพาะถนนซึ่งหากมีการก่อสร้างอาจทำให้เกิดความเสียหาย ในส่วนนี้ทางกรมชลประทานแจงว่ามีงบ CSR สำหรับทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ โดยจะเข้าไปบำรุงปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีหากเกิดการชำรุดเสียหาย รวมทั้งการดูแลต้นไม้ สภาพแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนสิ่งที่เป็นแหล่งสำคัญในด้านการท่องเที่ยวหากอยู่ในแนวก่อสร้างก็จะนำออกและกลับไปตั้งให้ใหม่หากทำงานแล้วเสร็จในช่วงนั้น อีกประเด็นที่เป็นกังวลคือ เรื่องการใช้วัตถุระเบิดในการทำงานอาจจะมีผลกระทบกับช้าง คณะกรรมการได้มีการทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงช้างและประชาชนในพื้นที่แล้วว่า การใช้ระเบิดไม่ใช่การระเบิดที่เสียงดังมาก มีการควบคุมปริมาณการใช้ในแต่ละครั้ง โดยจะควบคุมตั้งแต่เริ่มใช้เพื่อช้างซึ่งมีประสาทสัมผัสที่ไวเกิดความคุ้นชินก่อน จากนั้นก็จะดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ”

“กรมชลประทานเองได้คำนึงถึงทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน รวมทั้งภาพรวมของทั้งพื้นที่และได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนต่อเนื่องมาโดยตลอด เกี่ยวกับโครงการนี้พี่น้องประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่อยากให้โครงการนี้ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพียงแต่ยังมีบางส่วนที่ยังมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอเวลาในการที่จะเริ่มดำเนินการว่าจะเป็นไปตามข้อตกลงหรือเกิดผลกระทบ สามารถควบคุมได้หรือไม่อย่างไรต่อไป”

“ในส่วนนี้จังหวัดเชียงใหม่เอง ซึ่งได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาช่วยเหลือโครงการ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานคณะกรรมการในการช่วยเหลือแก้ปัญหาผลกระทบโครงการกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้มอบให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำกับงานด้านชลประทานเข้ามาช่วยในการพูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีการดำเนินการพูดคุยทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่แล้วหลายครั้ง คงเหลือเพียงปัญหาเดียวที่ประชาชนยังกังวลคือเรื่องการใช้ระเบิดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อช้างที่เลี้ยงในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการใช้ระเบิดก็ต้องรอในช่วงที่จะดำเนินการว่าจะดำเนินการตามที่พูดคุยตกลงกันหรือไม่ ยืนยันว่าก่อนจะทำอะไร เราจะทำให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบในทุกขั้นตอนการทำงาน”

ร่วมแสดงความคิดเห็น