พาณิชย์สำรวจ โรงสีเชียงใหม่ ห่วงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กับข้าวเปลือกราคาร่วง

ns3ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตร พร้อมทั้งลงสำรวจโรงสีอินเตอร์ไรซ์ เชียงใหม่ เพื่อเร่งเดินหน้าแนวคิด สนองนโยบายรองนายกรัฐมนตรีในการสร้างความเข้มแข็งและเป็นมาตรการเชิงรุกในการดูแลประชาชนในพื้นที่และมุ่งเน้นในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตร

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 พ.ย.59 นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ภาคเหนือลงพื้นที่ ณ โรงสีอินเตอร์ไรซ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าแนวคิดในการพัฒนาพาณิชย์ตามภาคนโยบายของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นมาตรการเชิงรุกในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งการดูแลเรื่องค่าครองชีพของประชาชน สินค้าเกษตรที่สำคัญ ผลักดันเศรษฐกิจชุมชน รวมทั้งการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและทันกับสถานการณ์ โดยได้กำหนดลงพื้นที่ชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานในภูมิภาคต่างๆ

โดย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นความสำคัญของพี่น้องเกษตรกร และมุ่งเน้นในการดูแลช่วยเหลือเกษตรกรในการจำหน่ายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวเปลือกที่มีปัญหาด้านราคาอยู่ในขณะนี้ โดยหลังจากนี้จะไปติดตามสถานการณ์และตรวจเยี่ยมกระบวนการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สุดรับซื้อขนาดใหญ่ ณ โรงงาน บริษัท ซีพี เอฟ สาขาลำพูน และบริษัท เบทาโกร ภาคเหนือ สาขาลำพูน เพื่อหาทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาด้านราคาอย่างเร่งด่วนตามมาตรการของรัฐบาล

ตรวจโรงสี..........นายวินิจฉัย แจ่มแจ้งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงสีอินเตอร์ไรซ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งหาทางช่วยเหลือเกษตรกร
ตรวจโรงสี……….นายวินิจฉัย แจ่มแจ้งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นำทีมผู้บริหารลงพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงสีอินเตอร์ไรซ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งหาทางช่วยเหลือเกษตรกร

พร้อมทั้ง การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังได้นำทีมผู้บริหารมาประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานยกระดับการเชื่อมโยงการค้าภูมิภาค “พาณิชย์ภาค Mini Moc” ร่วมกับพาณิชย์จังหวัดด้วย การเดินสายลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นภาคนำร่อง และเป็นพื้นที่สำคัญด้านสินค้าเกษตร ค่าครองชีพ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชน หลังจากได้เดินทางไปประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานยกระดับการเชื่อมโยงการค้าภูมิภาค “พาณิชย์ภาค Mini Moc” และขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่มาแล้ว 2 แห่ง คือจังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม และพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

“ปัญหาค่าครองชีพและสินค้าเกษตรมีความซับซ้อนมากกว่าที่จะสามารถแก้ไขปัญหาจากหน่วยใดหน่วยหนึ่ง จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยหน้าที่ของภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบาย มีการจัดทำแผนการปฏิบัติงานตามกรอบนโยบายว่า จะต้องดำเนินการอย่างไร มีความสัมฤทธิ์ในกรอบระยะเวลาเท่าไหร่ อย่างไร มีแนวทางในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่อยู่แล้วอย่างไร”

“พาณิชย์ภาค Mini Moc” จะเป็นแนวทางการยกระดับการเชื่อมโยงการค้าภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จอย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ การยกระดับจังหวัดเชียงใหม่เป็น “พาณิชย์ภาค” เพื่อเป็นศูนย์เชื่อมโยงประสานความช่วยเหลือระหว่างภูมิภาคกับส่วนกลางให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการเศรษฐกิจท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง เน้นการทำงานในการลงพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ให้สอดคล้องกับต้นทุนสินค้า หากพบผิดปกติก็ต้องเอาจริงเอาจังในการกำกับดูแล ไม่ปล่อยละเลย ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือรายเล็ก ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกิดราคาแพงจนกระทั่งชาวบ้านลำบาก และที่สำคัญที่สุด คือต้องสื่อสารโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์หากมีเรื่องเร่งด่วนสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว” นาย วินิจฉัยกล่าว

และในวันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานชั้น G อุทยานการค้ากาดสวนแก้ว นายจำรูญวิทย์ จันทรานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ซึ่งได้มีการเปิดเป็นจุดขายข้าว ตาม “โครงการข้าวสหกรณ์ช่วยชาวนา” โดยได้มีเกษตรกรชาวนานำข้าวสารมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกซื้อข้าวสารคุณภาพดีในราคาเหมาะสม ซึ่งจากการเดินทางมาตรวจสอบในวันนี้พบว่าได้ผลตอบรับดีมาก เพราะประชาชนเป็นจำนวนมากต่างพากันมาช่วยซื้อข้าวที่มาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการข้าวสหกรณ์ช่วยชาวนา ถือเป็นโครงการที่จัดทำขึ้นซึ่งโครงการนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของขบวนการสหกรณ์ร่วมกับห้างสรรพสินค้า และร้านค้าในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ได้กระจายผลผลิตข้าวสาร แก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ด้วยการเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรชาวนาได้นำข้าวสารไปวางขายตามจุดจำหน่ายต่างๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพื่อกระจายผลผลิตข้าวสารจากเกษตรกรถึงประชาชนโดยตรง ขยายช่องทางการจำหน่ายข้าวสารถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้สถานการณ์ราคาข้าวของชาวนาในปัจจุบันให้ดีมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์การผลิตข้าวปี 2559/2560 ของจังหวัดเชียงใหม่ว่า มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 431,910 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร 624 กิโลกรัม คาดว่าจะผลผลิตรวมราว 269,312 ตัน โดยเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวเหนียวร้อยละ 82.17 ของพื้นที่ ซึ่งกลุ่มพันธุ์ข้าวที่ปลูกประกอบด้วยข้าวเจ้า 54,370 ไร่ ผลผลิต 32,972 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 606.43 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเหนียว 347,560 ไร่ ผลผลิต 218,962 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 629.99 ไร่ และข้าวหอมมะลิพื้นที่ปลูก 29,980 ไร่ ผลผลิต 17,378 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 579.65 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเดือนตุลาคมมีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วประมาณร้อยละ 12 ของพื้นที่ปลูกคิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 51,829 ไร่ โดยช่วงที่จะมีการเก็บเกี่ยวมากที่สุดอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. ถึงเดือน ธ.ค.59

ร่วมแสดงความคิดเห็น