เชียงใหม่ตื่น นัดถกกำจัดผักตบ มท.จี้ให้รายงานทุก 15 วัน

s__2891874เชียงใหม่เตรียมระดมเครื่องจักรกล จัด คิ๊กออฟ เร่งกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด ที่ลำเหมืองห้า อำเภอสันทราย ที่มีปริมาณผักตบชวาตกค้างมากที่สุดถึง 1.2 แสน ตรม. ในวันจันทร์ที่ 14 พ.ย. นี้ ย้ำพื้นที่อื่นเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 5 ชั้น 5 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ระดับจังหวัด ตามโครงการบูรณาการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานรับผิดชอบแก้ไขปัญหาผักตบชวาแบบบูรณาการทั่วประเทศ

จากการสำรวจปริมาณผักตบชวาของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2559 มีพื้นที่เป้าหมายกำจัดผักตบชวาทั้งหมด 51 แห่ง ปริมาณผักตบชวาและวัชพืช ที่ต้องกำจัด 1,297,366 ตารางเมตร คิดเป็นน้ำหนักรวม 64,868 ตัน ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่สามารถดำเนินการกำจัด ไปได้เพียง 362,954 ตารางเมตร 18,147 ตัน ยังเหลือพื้นที่เป้าหมายที่ยังไม่ได้ดำเนินการ 24 แห่ง ปริมาณผักตบชวา 934,412 ตารางเมตร น้ำหนัก 46,720 ตัน อยู่ในพื้นที่อำเภอสันป่าตอง 11 จุด, สารภี 7 จุด และสันทราย 6 จุด

s__2891872
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประธานในที่ประชุม ได้ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบทั้งอำเภอ, องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น ประสานการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน เร่งรัดดำเนินการลดปริมาณผักตบชวาให้ได้ มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยให้ติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และให้รายงานผลการปฏิบัติทุก 15 วัน เพื่อให้การแก้ปัญหาผักตบชวา เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเห็นผลเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.30 น. จังหวัดเชียงใหม่จะระดม เครื่องจักรกล ทุกหน่วยงานในพื้นที่บูรณาการร่วมกัน จัดกิจกรรม คิ๊กออฟกำจัดผักตบชวา ที่ลำเหมืองห้า บ้านหนองอึ่ง หมู่ 5 ตำบลสันป่าเปา อำเภอสันทราย ซึ่งมีปริมาณผักตบชวาถึง 121,000 ตารางเมตร มากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ไปเป็นประธาน หลังจากนั้นจะให้พื้นที่ที่ยังไม่ดำเนินการได้เร่งกำจัดผักตบชวา ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกัน ยังเน้นย้ำให้หน่วยงานเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอหาวิธีนำผักตบชวาไปทำปุ๋ยหมัก หรือ น้ำหมักชีวภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่ ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น