เตือนลอยกระทง ระวังการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ พร้อมเผย 10 ปีเด็กจมนํ้าเสียชีวิตช่วงลอยกระทง

998

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วันลอยกระทงในปี 2559 นี้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีการจัดกิจกรรมตามประเพณีและมีประชาชนจำนวนมากร่วมงานดังกล่าว ซึ่งทุกๆ ปีจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่างๆ โดยเฉพาะการบาดเจ็บจากการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและความพิการ และอุบัติเหตุจากการจมนํ้าที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุตํ่ากว่า 15 ปี
จากข้อมูลโรงพยาบาลเครือข่ายเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ 33 แห่ง (รวบรวมโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) ในช่วง 5 ปี (ปี 2554-2558) พบผู้บาดเจ็บรุนแรงจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่มารักษาในโรงพยาบาล 3,326 ราย (เฉลี่ยปีละ 665 ราย) ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10 ราย เฉพาะช่วงวันลอยกระทง 5 ปีที่ผ่านมามีผู้บาดเจ็บมากถึง 109 ราย และล่าสุดในปี 2558 มีผู้บาดเจ็บ 532 ราย
สำหรับคำแนะนำ มีดังนี้ 1.ไม่ควรเล่นผาดโผน ใกล้วัตถุไวไฟหรือบ้านเรือน 2.ไม่เก็บพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไว้ในกระเป๋าเสื้อ/กางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่องเพราะทำให้เกิดการเสียดสีและระเบิดได้ 3.การเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ของเด็กจะต้องอยู่ใความดูแลของผู้ปกครอง
อย่างใกล้ชิด 4.ห้ามพยายามจุดดอกไม้ไฟ หรือพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาด และควรเตรียมถังนํ้าไว้ 1 ถังใกล้ตัวเสมอเวลาเล่น เพื่อใช้ดับเพลิง
นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อไปว่า อีกปัญหาที่สำคัญคือ การจมนํ้า เพราะเทศกาลลอยกระทงทุกปี เด็กจะมีความเสี่ยงจมนํ้ามากขึ้น เพราะเด็กมักจะอยู่ใกล้แหล่งนํ้าเพื่อลอยกระทงทำให้เสี่ยงที่จะลื่นและพลัดตกได้ จากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2549-2558) ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วันคือ ก่อนวันลอยกระทง วันลอยกระทง และหลังวันลอยกระทง พบว่ามีคนจมนํ้าเสียชีวิตมากถึง 438 คน โดยเป็นเด็ก (อายุตํ่ากว่า 15 ปี) ถึง 129 คนหรือสูงถึงร้อยละ 29.5 เฉพาะในวันลอยกระทงวันเดียวมีคนจมนํ้าเสียชีวิตสูงถึง 172 คน
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองคือ ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ให้คลาดสายตา และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งนํ้า โดยเฉพาะเด็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึง ที่สำคัญไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่งเพราะอาจพลัดตกหรือลื่นได้ และไม่ควรให้เด็กลงเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทงเด็ดขาด เพราะเด็กอาจจมนํ้าและเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นตะคริวเพราะอยู่ในนํ้าเป็นนานและอากาศหนาวเย็นด้วย ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงนํ้า หากมีการโดยสารเรือให้สวมเสื้อชูชีพทุกครั้งทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

ร่วมแสดงความคิดเห็น