ชวนโมเดิร์นเทรด แจม “ร้าน มอก.”

b6-w4-5h4-1
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยกพลขึ้นเหนือ จัดโรดโชว์ “ร้าน มอก.” กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพื่อชักชวนให้ผู้ประกอบการร้านจำหน่ายลักษณะโมเดิร์นเทรดให้เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมพันธกิจในการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มการรับรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องหมายมาตรฐาน “มอก.” และเป็นการยกย่องเชิดชูผู้ประกอบการร้านจำหน่ายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตั้งเป้าให้ครอบคลุมไปทุกร้านค้าทั่วประเทศ
นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็น ประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “ร้าน มอก.” กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยมี นางธิติมา หุ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน (กส.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้กล่าวรายงาน ซึ่งภายในงานมีผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมกว่า 50 ราย ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่
โดยนายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า โครงการ “ร้าน มอก.” เป็นโครงการในลักษณะประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาล กล่าวคือ เป็นโครงการที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ในการคุ้มครองความปลอดภัยในคุณภาพสินค้าแก่ประชาชนและผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 ได้เริ่มเปิดโครงการและมอบป้าย “ร้าน มอก.” ให้กับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายลักษณะ Modern Trade และร้านค้าย่อยจำนวน 8 ราย 434 สาขา ทั่วประเทศ จึงเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อ สังคมมีความตำหนัก และเอาใจใส่ในความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยการคัดเลือกและจำหน่ายสินค้าที่แสดงเครื่องหมาย มอก. มาจำหน่ายในร้าน
นายพิสิฐ กล่าวต่อว่า การดำเนินการในลักษณะ
การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความสมัครใจและเป็นพลังให้เกิดประสิทธิผลในวงกว้าง เพราะผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานบังคับที่อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีจำนวน 106 ชนิด ในหลายสาขา มีผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตกว่า 3,000 ราย ยังไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานทั่วไปอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ของสำนักงาน ซึ่งการกำกับดูแลตามกฎหมายอาจไม่เกิดประสิทธิผลหากไม่ได้รับความร่วมมือจากประกอบการร้านจำหน่าย
ดังนั้นการจัดทำโครงการ “ร้าน มอก.” จึงเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งหนึ่ง ที่จะส่งเสริมให้มีร้านจำหน่ายสินค้า มอก. ที่มีคุณภาพทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพจากร้านจำหน่ายทุกภูมิภาค และหวังว่าจะมีร้านจำหน่ายสมัครเข้าร่วมโครงการอยู่อย่างต่อเนื่องตลอดไป โดยตั้งเป้าให้ครอบคลุมไปทั่วทุกร้านค้าทั้งประเทศ
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.จัดโครงการ “ร้าน มอก.” ขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่มาเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานจากร้านจำหน่ายโดยการมอบป้ายสัญลักษณ์ “ร้าน มอก.” ของ สมอ. เพื่อเป็นการส่งเสริมและประกาศเกียรติคุณให้กับผู้ประกอบการร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรม ที่ใส่ใจในความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยเลือกนำสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. มาจำหน่าย
อีกทั้งยังเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคจากการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานอีกด้วย
ด้านนางธิติมา หุ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน (กส.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีพันธกิจในการกำหนดมาตรฐาน รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม
ยกระดับความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ คุ้มครองความปลอดภัยให้ผู้บริโภคกำกับดูแลคุณภาพสินค้าทั้งในโรงงานและของตลาดให้มีคุณภาพมาตรฐานตลอดไปนั้น สำนักงานดำเนินโครงการสร้างเครือข่ายร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐาน ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2554 แล้วมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้างเข้าร่วมโครงการ จำนวน 22 ร้าน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดีในการสร้างเครือข่ายด้านการตรวจติดตาม จึงได้ต่อยอดเป็นโครงการ”ร้าน มอก.” ขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมพันธกิจ ในการคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มการรับรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องหมายมาตรฐาน และเป็นการยกย่องเชิดชูผู้ประกอบการร้านจำหน่ายที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน
การดำเนินการดังกล่าวเป็นการสร้างความร่วมมือผนึกกำลังเป็นเครือข่าย ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ สมอ. ลดการตรวจติดตามร้านจำหน่าย ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศที่ปัจจุบันมีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่มีอยู่ ดังนั้นหากมีร้านจำหน่ายที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจะเป็นการช่วยกำกับดูแลคุณภาพสินค้าอย่างมีประสิทธิผล และเป็นการเข้าร่วมโดยความสมัครใจของผู้ประกอบการเองที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และเพื่อให้โครงการ “ร้าน มอก.” เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และสามารถกระจายพัฒนาผู้ประกอบการร้านจำหน่ายให้ทั่วถึงลงสู่พื้นที่ส่วนภูมิภาค สำนักงานจึงไดจัดทำโครงการสัมมนา เรื่อง “ร้าน มอ.” กับผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคขึ้น โดยมีแผนการสัมมนาทั้งสิ้น 12 ครั้ง ซึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่นี้ถือเป็นจังหวัดแรกที่ได้ทำการโรดโชว์การสัมมนาในครั้งนี้ และพร้อมที่จะเดินหน้าไปภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป นางธิติมา กล่าวส่งท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น