เชียงใหม่มุ่งหน้าก้าวสู่ เมืองมรดกโลกที่มีชีวิต

b-1

โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่างร่วมมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพียง ซึ่งหากเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก จะเป็นการยกฐานะเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ทั่วโลกต่างจะให้ความสนใจเชียงใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทั้งยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีเอกลักษณะเฉพาะตัว เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่สวยงาม มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม งานศิลปะและหัตกรรมที่ทรงคุณค่า มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นล้านนามายาวนานกว่า 720 ปี ที่ผ่านมาเชียงใหม่ได้รับการพัฒนาตัวเองในหลายเรื่องโดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาในเขตภาคเหนือ เป็นศูนย์การการศึกษา ศูนย์การการท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้านศาสนา ทั้งนี้คนเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงประชาชน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะผลักดันให้ “จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิต” แห่งแรกของประเทศไทยให้ได้

เชียงใหม่พร้อมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าและระดมความคิดเห็นเพื่อสนับสนุน “เชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” เผยเมืองเชียงใหม่มีคุณค่าควรแก่การยกย่องและบำรุงรักษาในมิติด้านมรดกทางวัฒนธรรม ที่สะท้อนคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก เป็นเมืองที่สะท้อนแนวคิดเมืองที่มีชีวิตผ่านการสืบทอด ชี้หากเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก จะเป็นการยกฐานะเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ทำให้ทั่วโลกต่างจะให้ความสนใจเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้นด้วย แจงแผนปี 60 พร้อมเดินหน้ารวบรวมเอกสารและข้อมูล ดันเชียงใหม่สู่ “เมืองมรดกโลกที่มีชีวิต”

ผู้เข้าร่วมแถลงข่าวเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก
ผู้เข้าร่วมแถลงข่าวเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก

เมื่อเร็วๆนี้นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันแถลงข่าวและระดมความคิดเห็นเพื่อสนับสนุน “เชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” ภายใต้โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 1) ณ ห้องประชุมใหญ่ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย นายกฤษณ์ ธนาวนิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงมิติภาพรวมของการผลักดันเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกในฐานะที่เป็น “Living Heritage” แผนปฏิบัติการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ศึกษาเพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนาต่อไป ว่า ทั้งนี้เมืองเชียงใหม่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาของยูเนสโก (UNESCO) เพื่อที่สะท้อนคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Values-OUV) อยู่ในกรอบของความสมบูรณ์ ในการพัฒนาเข้าสู่เมืองมรดกโลก ได้มองถึงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ซึ่งเป็นที่ทราบกันกีอยู่แล้วว่าขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่มีอายุถึง 720 ปี ดังนั้นสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในทุกปีก็จะเป็นเรื่องของการเสริมสร้างศิลปวัฒนธรรม ประเพณี การส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว การส่งเสริมสนับสนุนการจัดประชุมในระดับนานาชาติหรือที่เรียกว่าอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) เพื่อสะท้อนการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ การส่งเสริมสนับสนุนการจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ซึ่งจะมีการสอดแทรกสิ่งที่เรียกว่าศิลปวัฒนธรรม ทางจังหวัดเองก็ได้สนับสนุนในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่

นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ด้วยจุดเด่นของจังหวัดเชียงใหม่ที่มี คือ ด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ทุกคนในจังหวัเชียงใหม่ต่างก็มีรอยยิ้ม เช่นเดียวกันกับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งถือเป็นความประทับใจที่ตราตรึงใจนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบกับความเป็นธรรมชาติของผู้คน ตลอดจนความมีอัธยาศัยที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล่วนเป็นสิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่มีความภาคภูมิใจ ในส่วนของการที่จะนำเชียงใหม่เข้าสู่เมืองมรดกโลกนั้น ขณะนี้เชียงใหม่ได้เข้าเป็นบัญชี Tentative List หรือที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการเอกสารที่จะนำเสนอไปยังยูเนสโก โดยขณะนี้ทางจังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมในการทำงานต่างๆ ทั้งการขับเคลื่อนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในทุกๆ 4 ปี ซึ่งในรอบปี 2561 ถือเป็นรอบที่ 3 ที่เป็นการจัดทำแผนแบบบูรณาการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัด ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระดับนานาชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การค้าการลงทุน

รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยในยุทธศาสตร์ด้านสังคม จะเป็นการยกระดับชีวิตสังคม มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่เกี่ยวข้องโดยให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก เป็นโครงการส่งเสริมวัฒนธรรม และภูมิปัญญาล้านนา กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจะมีกิจกรรมหลัก คือ “การขับเคลื่อนเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” โดยในปีงบประมาณ 2561 จังหวัดได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการในโครงการพัฒนาระบบทางข้อมูล กายภาพ และสังคม ในเขตพื้นที่เมืองเชียงใหม่มรดกโลก ซึ่งจะเป็นการดำเนินโครงการ ผลพวงจากโครงการนี้จะเป็นการต่อยอดจากผลการศึกษา เมื่อทราบพื้นที่กันชน (Buffer Zone) โดยรอบคูเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ (Setting) จากดอยสุเทพ พื้นที่ชุมชน ย่านและวัดที่สำคัญ ที่มาจากการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ วิถีชีวิตความเป็นชุมชน รวมถึงวัฒนธรรม โครงการจะมีลักษณะพัฒนาฐานข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการศึกษาวิจัยเพื่อเขาสู่ระบบ ในด้านของอาคาร สถานที่ สถาปัตยกรรม ชุมชนและวิถีชุมชนต่างๆ ก็จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไป ดังนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารประกอบการนี้ ในการเสนอให้เชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลก

ในเรื่องของโครงการในการขับเคลื่อนก็จะมีงบประมาณ มีแผนที่จะรองรับ ขณะเดียวกัน ในโอกาสครบรอบ 720 ปี เมืองเชียงใหม่ ทางจังหวัดมีทีมพัฒนา ทีมบูรณาการ ในการคิดและมองตำแหน่งเมืองเชียงใหม่ในอนาคต ในมติของเมืองเชียงใหม่ได้ปรึกษาการดำเนินการ ทุกๆกิจกรรมจะได้รับความร่วมมือจากเทศบาลเมืองเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ การปกครองในท้องถิ่นต่างๆ ได้ร่วมจัดกิจกรรมครบรอบ 720 ปี เมืองเชียงใหม่
ภาพจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต เช่น ไมซ์ซิตี้ (MICE City) ของเมืองเชียงใหม่ด้วยการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม และแผนพัฒนาเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันที่จะพัฒนาสู่เมืองมรดกโลก มีกรอบแนวความคิดและถ่ายทอดทีมพัฒนาและทีมบูรณาการ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงมหาวิทยาลัยภาคท้องถิ่นและภาคประชาสังคม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ว่าและกล่าว

“สำหรับกลไกในการขับเคลื่อน สิ่งที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) พิจารณาเอกสาร แผนปฏิบัติการต่างๆ แล้ว ยังมีการการลงพื้นที่สำรวจตามโรงเรียน จุดชุมชน สอบถามประชาชน ในเรื่องของการรับรู้ความเข้าใจเรื่องมรดกโลก ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองมรดกโลก และจังหวัดเชียงใหม่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็น 1 ใน 10 เมือง ที่จะต้องได้รับการพัฒนาและอนุรักษ์ไว้อีกด้วย”

222

ด้านนายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงบทบาทของท้องถิ่นและในฐานะผู้ดูแลพื้นที่อื่นๆ จะถูกนำเสนอเป็นพื้นที่มรดกโลกตลอดจนการมีส่วนร่วมและความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ว่า ทางท้องถิ่นมีการรับข้อเสนอจากประชาทุกท่านเพื่อมาปรับเป็นรูปธรรม จังหวัดเชียงใหม่มีข้อดี คือ มีต้นทุนที่มีความเป็นไปได้ เช่น ความเก่าแก่ถึง 720 ปี มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่นพระพุทธรูปของจังหวัดเชียงใหม่จะแตกต่างจากที่อื่นๆ แต่ละพื้นที่จะมีลักษณะที่แตกต่างกันสามารถแยกได้ ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่พัฒนาเมืองเชียงใหม่เพราะว่าเป็นหัวเมืองเหนือหลัก รวมถึงระบบต่างๆ แนวโน้มที่จังหวัดเชียงใหม่จะเป็นมรดกโลกมีความเป็นได้สูง ซึ่งหากได้เป็นเมืองมรดกโลกแล้วจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นเมืองที่เป็นจุดสนใจจากทั่วโลกมายิ่งขึ้น

ขณะที่ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอภาพรวมของโครงการฯ และคณะทำงาน ว่า การทำโครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก มีรายละเอียด ดังนี้

แผนที่เมืองเชียงใหม่ได้รับการพิจารณาขึ้นบัญชีเบื้องต้น (Tentative List) ตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครเชียงใหม่ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 1) ขึ้นเพื่อดำเนินการศึกษา และรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์และบท และบริบทต่างๆของเมือง รวมถึงการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำแผนและข้อกำหนดพื้นที่สำหรับพื้นที่มรดก สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเอกสารเพื่อเสนอเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลกต่อคณะกรรมการองค์การยูเนสโกในระยะต่อไป

ในส่วนของหลักการทำงานในระยะที่ผ่านมา ทางคณะทำโครงการฯ พบว่า เมืองเชียงใหม่มีคุณค่าควรแก่การยกย่องและบำรุงรักษาในมิติด้านมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่สะท้อนคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Values-OUV) ตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) มีดังนี้

1.เมืองเชียงใหม่สามารถเป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียว ของการก่อตั้งเมืองและสร้างสรรค์เมืองภายใต้แนวคิดการสร้างพันธมิตรระหว่างกษัตริย์สามพระองค์ เพื่อตั้งรับการขยายอำนาจของมองโกล

2.เมืองเชียงใหม่เป็นตัวแทนของเมืองที่มีความโดดเด่น และสะท้อนพัฒนาการสูงสุดของรัฐในหุบเขาของชาติพันธุ์ไต (Tai-Dai Culture)

3.เมืองเชียงใหม่สะท้อนแนวคิดเมืองที่มีชีวิต (Living City) ผ่านการสืบทอด และส่งผลต่อจิตวิญญาณและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับเมืองและธรรมชาติ ผ่านการหลอมรวมความเชื่อและพิธีกรรม ผี พุทธ และพราหมณ์ ซึ่งมีคุณค่าและถือว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่ได้สะท้อนผ่านองค์ประกอบสำคัญของเมือง 3 ประการคือ

3.1.โครงสร้างของการออกแบบผังเมือง (Town’s Planning) อันได้แก่ แนวคิดของการสร้างเมือง การจัดวางองค์ประกอบ ทิศทาง ตำแหน่ง แนวแกนของเมือง ถนน ระบบการจัดการน้ำ ทั้งหมดองค์ความรู้อันมีคุณค่าและเชื่อมต่อเมืองให้สัมพันธ์กับองค์ประกอบทางธรรมชาติ เช่น ดอยสุเทพ พื้นที่ราบเชิงเขา แม่น้ำปิง คลองแม่ข่า และพื้นที่เกษตรกรรม

3.2.อาคาร สถาปัตยกรรม และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนแนวคิดของการสร้างเมือง (Town’s Architecture) อันได้แก่ ป้อม ประตู คูเมือง เสาหลักเมือง วัด อาคาร และแหล่งโบราณสถานที่สะท้อนแนวคิดการสร้างเมือง ไม้หมายเมือง

3.3.วัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณีและจารีต ของผู้คนที่ทำให้เมืองยังคงความสุขเนื่องและมีชีวิต (Town’s Culture)

จากองค์ประกอบทั้ง 3 ประการ คณะทำงานโครงการฯ จึงได้ข้อสรุปสร้างแนวคิด ที่จะนำเสนอพื้นที่เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Properties) จากองค์การยูเนสโก จะประกอบไปด้วยพื้นที่เมืองเก่าชั้นใน และพื้นที่เมืองเก่าชั้นนอกบางส่วน เส้นทาง และองค์ประกอบของเมือง วัดกรือโบราณสถานที่แสดงถึงการเชื่อมต่อไปสู่ดอยสุเทพ (ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและหาข้อสรุป) ภายใต้แนวคิดการขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination)

การขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination) พื้นที่เสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Property) และเกณฑ์การเป็นเมืองมรดกโลก (Criteria) ในการนำเสนอเพื่อรับพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

จากการดำเนินงานของคณะทำงานโครงการ ขณะนี้ได้ร่างข้อสรุปเบื้องต้น ภายใต้แนวคิดการขึ้นทะเบียนแบบกลุ่ม (Serial Nomination) โดยจะเสนอให้พื้นที่เมืองเก่าชั้นใน และพื้นที่เมืองเก่าชั้นนอกบางส่วน เส้นทาง และองค์ประกอบของเมือง วัดหรือโบราณสถานที่แสดงถึงการเชื่อมต่อเมืองไปสู่ดอยสุเทพ เป็นพื้นที่ที่เสนอให้เป็นเขตมรดกโลก (อยู่ระหว่างการศึกษาและหาข้อสรุปเพิ่มเติม) ตรงตามเกณฑ์ข้อที่ 2 ของการเป็นเมืองมรดกโลก (Criteria of Selection) ที่มีเนื้อหาโดยรวมว่าสิ่งที่จะได้รับรองเป็นมรดกโลกจะต้อง “เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่งในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องหรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งการพัฒนาเหล่านั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรืออยู่บนพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดของโลก”

ด้วยคณะทำงานมีความเห็น ว่าอาจจะใช้เกณฑ์ข้อที่ 3 ที่ระบุว่ามรดกโลกจะต้อง “เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือเป็นพยานหลักฐาน แสดงขนบธรรมเนียมประเพณี หรืออารยธรรมยังซึ่งยังคงเหลืออยู่หรืออาจสูญหายไปแล้ว” และเกณฑ์ข้อที่ 6 ที่ว่ามรดกโลกจะต้อง “มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่มีความสำคัญหรือความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์” เป็นเกณฑ์สนับสนุนเกณฑ์หลักในข้อที่ 2 ที่กล่าวมาข้างต้น

เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2559 1.รวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลประวัติศาสตร์ และคุณค่าของเชียงใหม่ คุณค่าที่โดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Values-OUV) ตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) 2.นำเสนอพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นพื้นที่มรดกโลก (Property area/Buffer Zone และพื้นที่ครอบคลุมที่อยู่ใน Management Planning) 3.จัดทำร่างเอกสารข้อเสนอเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (ในบทที่ 1-3 ตาม Operational Guideline ของ UNESCO) 4.สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ในกระบวนการการขับเคลื่อนโครงการฯ 5.ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงาน ICOMOS ซึ่งเป็นองค์กรภาคีของ UNESCO เพื่อรับการสนับสนุนในกระบวนการ Upstream ซึ่งเป็นขั้นตอนในการเตรียมจัดทำเอกสารแฟ้มข้อมูล (Nomination Dossier) ตามข้อกำหนดขององค์การยูเนสโก

ในปี 2560 (มีการตั้งเป้าหมายการดำเนินงาน) 1.เตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนการจัดการ (Management Plan) อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน 2.จัดทำฐานข้อมูล Cultural Mapping ในระยะที่ 2 (ฐานข้อมูลเสร็จสมบูรณ์) 3.จัดเวทีวิชาการระดับนานาชาติในเดือนมกราคม 2560 4.ดำเนินการขั้นตอน Upstream ครั้งที่ 1 โดยหน่วยงาน ICOMOS สากล 5.ดำเนินการจัดทำเอกสารแฟ้มข้อมูล (Nomination Dossier) ในบทที่ 4-6 (ระยะที่ 1)

ตราสัญลักษณ์โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก
ตราสัญลักษณ์โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก

ตราสัญลักษณ์โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก มีความหมายของตราสัญลักษณ์โครงการ 

ตราสัญลักษณ์โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก จัดทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างภาพจำให้กับการดำเนินงานโครงการฯ ด้วยตราสัญลักษณ์ได้สื่อสารความสำคัญของตัวแทนคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ที่โดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal values-OUV) ตามเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) และพื้นที่ที่นำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นเขตมรดกโลก (Nomination Property)

  • สามเหลี่ยมสีทอง เป็นตัวแทน วัดพระธาตุดอยสุเทพและดอยสุเทพ-ปุย
  • สี่เหลี่ยมสีน้ำตาล เป็นตัวแทน พื้นที่เวียงเก่า (สี่เหลี่ยมคูเมือง) และการเชื่อมโยงคุณค่าระหว่างเมืองกับดอยสุเทพ-ปุย
  • วงกลมสีเทาขนาดเล็ก เป็นตัวแทน มรดกทางวัฒนธรรมในชุมชน และชุมชนในเขตเมืองเก่า
  • เส้นโค้งสีฟ้า เป็นตัวแทน แม่น้ำปิง และระบบน้ำในพื้นที่ได้ตั้งเมือง
  • อักษรสีน้ำตาล เป็นตัวแทน ชื่อโครงการ และสีน้ำตาลแทนความหมายของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมของคนเชียงใหม่

สรุปการทำงานของคณะทำงานโครงการฯ

คณะทำงานโครงการฯ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์ในพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก (ระยะที่ 1) ประกอบด้วย 1.ผู้บริหารโครงการ รศ.ดร.วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ หัวหน้าทีมศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ 2.ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง นางสาวอิศรา กันแดง หัวหน้าทีมสถาปัตยกรรม 3.ผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมและผังเมือง ผศ.ดร.ชาญณรงค์ ศรีสุวรรณ หัวหน้าทีมสถาปัตยกรรม 4.ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการออกแบบ ผศ.คมสัน ธีรภาพวงศ์ หัวหน้าทีมจินตภาพเมือง 5.ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและผังเมือง นายศุภวุฒิ บุญมหาธนากร หัวหน้าทีมศึกษาชุมชน 6.เลขานุการโครงการ นางสาวไพลิน ทองธรรมชาติ และผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเชียงใหม่

กระบวนการทำงานของโครงการฯ ได้แบ่งคณะทำงานออกเป็นทีมย่อยตามประเด็นการศึกษาเรื่องคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ออกเป็น 5 ประเด็นศึกษาคือ 1.ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่ 2.ผังเมืองและการตั้งเมือง 3.สถาปัตยกรรม 4.ชุมชน 5.จินตภาพเมือง และ 1.งานคืองานประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อ โดยในระยะการทำงานที่ผ่านมาแต่ละทีมด้วยมีการวางแผน ดำเนินการ และความก้าวหน้าในการทำงาน ดังนี้

ทีมศึกษาประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่

ศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หลักฐาน และเอกสารทางวิชาการ โดยเป็นข้อมูลหลักฐานทั้งเอกสาร และวัตถุพยาน ที่ได้รับการพิสูจน์หลักฐานสรุปและประมวลผลอย่างคมชัดตรงประเด็น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาพื้นที่ในระดับภูมิภาคอันโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Values-OUV) ที่มีประจักษ์พยานที่ยังคงไว้ซึ่งความจริงแท้ (Authenticity) และมีความสมบูรณ์ (Integrity)

กระบวนการทำงาน ทำงานร่วมกับคณะทำงานในการคิดค้นสร้างโครงสร้างการนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่ โดยทำหน้าที่ ค้นคว้าข้อมูลเอกสาร หลักฐานยืนยันในแต่ละประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวพื้นที่ที่จะนำเสนอ และเพื่อสนับสนุนพื้นที่ให้มีความหนักแน่นสูงมิติคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล

ความก้าวหน้าในการทำงาน กำลังดำเนินการผลิตข้อมูลด้านประวัติศาสตร์เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนด้านการนำเสนอร่างพื้นที่เขตมรดกโลก และคุ้มค่าอันโดดเด่นเป็นสากล เทียบเคียง และเชื่อมโยงกับเมืองอื่นๆ ในพื้นที่วัฒนธรรมชาติพันธุ์ไต

การทำงานในขั้นตอนต่อไป ดำเนินการจัดทำเอกสารข้อมูลสนับสนุน และหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ ที่แสดงออกถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของพื้นที่ที่เสนอเป็นเขตมรดกโลก

333

ทีมผังเมืองและการตั้งเมือง 

1.ศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของเมืองเชียงใหม่ ศึกษาปัจจัยหรือบริบทด้านการด้านกายภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครองที่มีผลต่อคุณค่า และอัตลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ศึกษาที่ตั้งของแหล่งมรดก ศึกษาข้อมูลประกอบแหล่งมรดก ได้แก่ ข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Heritage) และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Heritage) โดยสังเขป

2.ศึกษาพื้นที่แบ่งมรดก (Property) บริเวณเขตสี่เหลี่ยมคูเมืองเก่าเชียงใหม่ โดยมีพื้นที่กันชน (Buffer Zone) โดยรอบคูเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบ (Setting) จากดอยสุเทพ พื้นที่ชุมชน ย่านและวัดที่สำคัญ ภายใต้ความโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV : Outstanding Universal Value)

กระบวนการทำงาน 1.ศึกษา และทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ แหล่งมรดกในเมืองเก่าเชียงใหม่ และการกำหนดขอบเขตเมืองมรดกโลก 2.สำรวจ เก็บข้อมูลสภาพปัจจุบัน และวิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงผังเมืองของพื้นที่ที่แสดงออกถึงคุณค่าทางมรดกและคุณค่าทางวัฒนธรรม และความโดดเด่นอันเป็นสากล 3.กำหนดขอบเขตพื้นที่ที่จะนำเสนอเป็นเขตมรดก (Property) และจัดทำข้อมูลหลักฐานสนับสนุน

ความก้าวหน้าในการทำงาน ขณะนี้คณะทำงานย่อยกำลังดำเนินการค้นหาความโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV : Outstanding Universal Value) ของเมืองเชียงใหม่ด้านผังเมือง และกำหนดขอบเขตพื้นที่มรดก (Property Zone) พื้นที่กันชน (Buffer Zone) เขียนเนื้อหาด้านผังเมือง จัดทำแผนที่และภาพประกอบรายงาน ซึ่งในการทำงานขั้นต่อไปจะทำการดำเนินการจัดข้อสรุปคุณค่าด้านผังเมืองฉบับสรุปพื้นที่ที่จะนำเสนอเป็นเขตมรดก และสนับสนุนเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน

 

ทีมสถาปัตยกรรม

การสำรวจอาคารที่มีคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ เพื่อค้นหาหลักฐานและประจักษ์พยานรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางมรดกทางวัฒนธรรม คุณค่าในทางด้านภูมิปัญญาและการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ทางด้านภูมิศาสตร์กายภาพของเมืองเชียงใหม่ จัดทำเป็นบัญชีรายงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า และนำมาสังเคราะห์ค้นหาคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลด้วยสถาปัตยกรรม เพื่อสนับสนุนการเสนอพื้นที่ที่จะนำเสนอเป็นเขตมรดกโลก

กระบวนการทำงาน 1.รวบรวม และศึกษาข้อมูลและสถาปัตยกรรมเมืองเชียงใหม่จากเอกสารวิชาการ แผนที่ และภาพถ่ายเก่า 2.สำรวจอาคารในบริเวณภายในกำแพงเมืองชั้นใน และย่านเก่าในปริมณฑลเมืองเชียงใหม่ 3.ทำการประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรม และจำแนกประเภทอาคารออกเป็นกลุ่มตามพัฒนาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม และรูปแบบสถาปัตยกรรม

ความก้าวหน้าในการทำงาน ผลการสำรวจพบว่าในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ และย่านเก่าในปริมณฑลเมือง พบอาคารที่มี 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาคารศาสนา พบอาคารและกลุ่มโบราณสถานที่มีศักยภาพ 21 แห่ง 2.อาคารที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ พบอาคารที่มีศักยภาพ 1 แห่ง 3.อาคารพักอาศัยและอาคารพาณิชย์ พบอาคารที่มีศักยภาพ 15 แห่ง 4.อาคารราชการ พบอาคารที่มีศักยภาพ 4 แห่ง 5.งานสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างผังเมือง พบหลักฐาน 11 แห่ง การทำงานขั้นต่อไป จัดทำข้อมูลอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมที่ได้จากการสำรวจจัดทำเป็นบัญชีรายงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า และเพื่อค้นหาคุณค่า

b-3

ทีมชุมชน

ทำหน้าที่สำรวจ และจัดทำข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนในเขตเมืองเก่าชั้นใน (13 ชุมชน) พร้อมทั้งทำการสำรวจและจัดทำผังชุมชนที่แสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินและกรรมสิทธิ์ที่ดินในเขตพื้นที่เมืองเก่าชั้นใน และรับฟังความคิดเห็น มุมมอง และทัศนคติของผู้คนในชุมชน (13 ชุมชน) ที่มีต่อการเตรียมความพร้อมของเมืองเชียงใหม่สู่การเป็นเมืองมรดกโลก

กระบวนการทำงาน 1.จัดเวทีระดมข้อมูลด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการสำรวจข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมชุมชนและผังชุมชน พร้อมรับฟังความคิดความเห็น และมุมมองของผู้คนในชุมชนที่มีต่อโครงการ 2.รวบรวมข้อมูลที่ได้จากเวทีประชุมชุมชนมาจัดทำข้อมูลเบื้องต้น ในรูปแบบของผังชุมชนที่แสดง ผังพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน, ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน, ผังแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผังประเพณีพิธีกรรมในรอบปี ที่มีผลต่อการส่งต่อและรักษาจิตวิญญาณของเมือง 3.ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและลงพื้นที่เก็บข้อมูลในรายละเอียดที่ไม่ได้จากเวทีประชุม 4.นำข้อมูลขั้นสมบูรณ์มาวิเคราะห์อย่างบูรณาการรวมกันกับทีมผังเมือง ทีมสถาปัตยกรรม ทีมประวัติศาสตร์ ทีมจินตภาพ เพื่อนำเสนอเป็นคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่อดีตที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน

ความก้าวหน้าในการทำงาน ขณะนี้ทีมงานได้ดำเนินการจัดเวทีระดมข้อมูลครบทุกชุมชนในเขตเมืองเก่าชั้นในแล้ว และผลสำรวจได้รวบรวมข้อมูลอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่พร้อมจะทำเป็นผังชุมชนขั้นสมบูรณ์

การทำงานขั้นต่อไป หลังจากนี้จะได้นำข้อมูลจากการสำรวจ ข้อค้นพบระหว่างการสำรวจ มาวิเคราะห์อย่างบูรณาการร่วมกันกับที่อื่นๆ และร่วมการจัดทำเวทีประชาชนระดับเมืองต่อไป เพื่อสร้างความเข้าใจในกระบวนการทำงานของการก้าวไปสู่เมืองมรดกโลก คุณค่าด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนในเขตเมืองเก่าชั้นในปัจจุบัน และแนวทางการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ในอนาคต

ทีมจินตภาพ

การค้นหาและสร้างแผนผังเฉพาะในการอนุรักษ์ การออกแบบย่านเพื่อการอนุรักษ์และกลยุทธ์การจัดการเมืองประวัติศาสตร์ศูนย์กลางอาณาจักรล้านนาอย่างเชียงใหม่ ให้ยั่งยืนตามกรอบของ UNESCO ด้วยการชูคุณค่าอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) และกรอบพัฒนาภูมิทัศน์ของเมืองประวัติศาสตร์มรดกโลกแบบ H.U.L.(Historic Urban Landscape)

กระบวนการทำงาน 1.สำรวจจินตภาพของเมืองจากชุมชนในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ โดยใช้การสำรวจและสัมภาษณ์ภาคประชาชนถึงบทบาทความเป็นมาประวัติศาสตร์ จินตภาพการรับรู้และการประเมินจุดแข็ง จุดอ่อน ของพื้นชุมชนและพื้นที่เมือง 2.ประมวลข้อมูลที่ได้จากภาคสนาม นำมาสังเคราะห์ เงื่อนไข ปัญหาและความต้องการ และภาพในอนาคต(จินตภาพ) จากคนในพื้นที่ 3.จัดการประชุมเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จำนวน 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมสร้างภาพอนาคตของพื้นที่ร่วมกัน เพื่อนำไปเป็นข้อสรุปในการจัดทำการออกแบบขั้นต้น (Preliminary Design) ต่อไป

ความก้าวหน้าในการทำงาน ขณะนี้ทีมจินตภาพกำลังดำเนินการประมวลผล และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนาม เพื่อสร้างเป็นประเด็นความคิดรวบยอด ที่ได้จากคนในชุมชนที่มีต่อจินตภาพของชุมชน และจินตคุณภาพของเมืองในอนาคต

การทำงานในขั้นตอนต่อไป การจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน และจัดทำการออกแบบขั้นต้น (Preliminary Design) สำหรับพื้นที่ที่แสดงออกถึงคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากล ในเขตพื้นที่ที่จะเสนอเป็นมรดกโลก

111

ทีมประชาสัมพันธ์และการผลิตสื่อ

ได้วางแผนการประชาสัมพันธ์ ผลิตสื่อออนไลน์ และลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ในชุมชน โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่และสื่อสารข้อมูลและการทำงานของคณะทำงานโครงการฯ สู่สาธารณะ และเพื่อเป็นการกระตุ้นของคนเชียงใหม่ และผู้ใช้สื่อออนไลน์โดยทั่วไปได้เกิดจิตสำนึก มีความรักและความห่วงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ และเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันโครงการ “เชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก” ร่วมกัน

กระบวนการทำงาน 1.วางแผนผลิตสื่อออนไลน์ Website และ Facebook Page 2.ผลิต Website 2 ภาษา (ไทย-อังกฤษ) www.chiangmaiworldheritage.net และ Facebook Page 2 ภาษา ภาษ (ไทย-อังกฤษ) แบ่งเป็น

ภาษาไทย : Chiangmai world Heritage initiative project

ภาษาอังกฤษ : Chiangmai Historical City World Heritage Project 3.ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์ในชุมชนใน 4 แขวง 4.จัดแถลงข่าวกับสื่อมวลชน

ความก้าวหน้าในการทำงาน คณะทำงานได้ดำเนินการผลิตสื่อออนไลน์ Website และ Facebook Page และมีการเพิ่มเติมข้อมูลเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก มรดกทางวัฒนธรรมของเชียงใหม่ และความก้าวหน้าของคณะทำงานโครงฯ การอย่างสม่ำเสมอ

การทำงานในขั้นต่อไป ลงพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการฯ ในชุมชน ใน 4 แขวง เพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมเวทีระดมความคิดเห็นและจัดแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน

“ทั้งนี้โครงการผลักดันเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก ได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่างร่วมมีบทบาทและมีส่วนร่วมอย่างพร้อมเพียง ซึ่งหากเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก จะเป็นการยกฐานะเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้น ทั่วโลกต่างจะให้ความสนใจเชียงใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเชียงใหม่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ทั้งยังเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีเอกลักษณะเฉพาะตัว เป็นเมืองที่มีความน่าอยู่สวยงาม มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ สถาปัตยกรรม งานศิลปะและหัตกรรมที่ทรงคุณค่า มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่นล้านนามายาวนานกว่า 720 ปี ที่ผ่านมาเชียงใหม่ได้รับการพัฒนาตัวเองในหลายเรื่องโดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมล้านนาในเขตภาคเหนือ เป็นศูนย์การการศึกษา ศูนย์การการท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้านศาสนา ทั้งนี้คนเชียงใหม่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงประชาชน จะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะผลักดันให้ “จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิต” แห่งแรกของประเทศไทยให้ได้” รศ.ดร.วรลัญจก์ กล่าว

นายพีระพล ขันตี , นายพงษ์ศักดิ์ ติ๊บธง

นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

นางสาว ศกลวรรณ ใจบุญเรือง, นางสาว สุรัสวดี ดลโสภณ

นักศึกษาฝึกประสบการณ์ สาขาสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา รายงาน

ร่วมแสดงความคิดเห็น