เชียงใหม่เตรียมแผน รับมือวิกฤติไฟป่า 60

ทสจ.เชียงใหม่ แจงแผนรับมือหมอกควันไฟป่า 2560 กำหนดเป้าชัดทุกเที่ยวบินต้องขึ้นลงได้ตามปกติ ค่า PM10 ต้องไม่เกิน 192 และต้องไม่เกิน 12 วัน พร้อมกับกำหนดลดการเกิด Hotspot และพื้นที่เผาไหม้ลงอีกร้อยละ 20 จากปีที่แล้ว วาง 3 ขั้นตอนรับมือ ขั้นเตรียมการกำหนดให้ทุกหมู่บ้านติดป่าทำแนวกันไฟให้ได้อย่างน้อย 5 กิโลเมตร ส่วนขั้นการรับมือช่วง 60 วันห้ามเผาจะเน้นการลาดตระเวนเป็นหลัก เตรียมบูรณาการทุกภาคส่วนลงในทุกพื้นที่เสี่ยง หากยังมีวิกฤติสามารถประกาศเวลาควบคุมเพิ่มได้

วันที่ 15 พ.ย.59 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุม 4 ชั้น 4 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายชานนท์ คำทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ หรือ ทสจ.เชียงใหม่ แถลงข่าวสื่อมวลชนถึงแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ในปีงบประมาณ 2560 ของเชียงใหม่ ว่าการดำเนินการรับมือปัญหาไฟป่าหมอกควันในปีนี้วางแผนไว้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนเชิงป้องกัน ดำเนินการช่วงเดือน พ.ย.59 ถึง 19 ก.พ.60 โดยการจัดทำประกาศจังหวัดเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงระเบียบข้อบังคับ กฎหมาย และมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และจัดตั้งศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล พร้อมคณะทำงาน

“ในปีนี้ให้พื้นที่จัดให้มีอาสาสมัครหมู่บ้านดับไฟป่าหมู่บ้านๆ ละ 25 คน ทุกอำเภอต้องสำรวจและกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับสูง ระดับกลาง ระดับต่ำ และให้ทุกอำเภอจัดทำทะเบียนผู้มีอาชีพหาของป่า เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้จะจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจในชุมชน ให้เห็นโทษของไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนถึงแนวทางการดำเนินงานในรูปแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่อยากเป็นรูปธรรม” ทสจ.เชียงใหม่ แจง

นายชานนท์ฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ให้มีการจัดชุดลาดตระเวนเพื่อป้องกันและควบคุมการเกิดไฟป่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ แล้วให้เครือข่าย อสม. ของกระทรวงสาธารณสุขออกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ถึงโทษของหมอกควันและไฟป่าแบบเชิงรุก พร้อมจัดทำแนวกันไฟป่าในทุกหมู่บ้านที่ติดกับเขตป่าหมู่บ้านละ 5 กิโลเมตรขึ้นไป ขณะเดียวกันต้องจัดทำแผนระดมพลดับไฟป่าโดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ระดับสถานการณ์ปกติ ระดับสถานการณ์รุนแรง และระดับสถานการณ์วิกฤติ มีการซ้อมแผนระดมพลตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้จะทำแผนการเผาและจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีลดการเผาโดยวิธีต่างๆ รวมทั้งให้ทุกอำเภอดำเนินการทำปุ๋ยหมักจากเศษกิ่งไม้ ใบไม้ อำเภอละ 10,000 ตัน

“ขั้นตอนที่ 2 คือการรับมือ อยู่ในช่วงวันที่ 20 ก.พ. ถึงวันที่ 20 เม.ย.60 หรือช่วง 60 วันแห่งการห้ามเผา โดยจะมีการจัดชุดลาดตระเวนและควบคุมไฟป่าร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ทหาร, ตำรวจ และอาสาสมัครหมู่บ้าน พร้อมทั้งกำหนดให้มีช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ในช่วงระยะเวลา 60 วัน ซึ่งปีนี้สามารถประกาศเพิ่มได้ในช่วงเวลาวิกฤติได้ และจะมีการพ่นละอองน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในอากาศ ประยุกต์ข้อมูลภูมิสารสนเทศภาพถ่ายดาวเทียมในการเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์ พร้อมเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้ข้อมูลแก่ประชาชนและสื่อมวลชน เช่น การตั้งกลุ่ม Application Line เพื่อความสะดวกในการแจ้งจุดเกิดไฟ อีกทั้งจะแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ให้เพิ่มความถี่ในการออกเสียงตามสาย เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดการเผาทุกชนิดในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย และขั้นตอนสุดท้าย เป็นการสร้างความยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินการตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.60 เป็นต้นไป” นายชานนท์ฯ กล่าว

ทสจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ส่วนเป้าหมายในการป้องกันและแก้ไปปัญหาหมอกควันและไฟป่าที่กำหนดไว้ในปีนี้ได้แก่ การขึ้นลงของอากาศยานต้องเป็นไปตามปกติต้องขึ้นลงได้ทุกเที่ยวบิน ลดระดับค่าความเข้มข้นของ ค่า PM10 ให้ต่ำกว่าปี 2559 ซึ่งมีค่า PM 10 สูงสุดอยู่ที่ 192 ไมโครกรับต่อ ลบ.ม. รวมทั้งค่าPM 10 ให้มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ โดยปี 2559 พบเกินค่ามาตรฐาน 12 วัน พร้อมกับการลดจำนวนจุด hotspot ลง 20 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2559 ที่เกิดทั้งสิ้น 997 จุด และมีเป้าหมายให้พื้นที่เผาไหม้ลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย โดยให้ลดจากปี 2559 ที่มีพื้นที่เผาจำนวน 1,412,399 ไร่ และเป้าหมายสุดท้ายคือ การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาหมอกควันและไฟป่า พร้อมมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

“ที่สำคัญในปีนี้จะมีการทำแนวกันไฟป่าเปียกทุกอำเภอ กำหนดให้มีการจัดทำฝายเพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 7,200 แห่ง พร้อมปลูกต้นไม้ผลัดใบในเขตทาง ปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวโพด และสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ป่าโดยชุมชน เช่น การบวชป่า เน้นการมีส่วนร่วมแบบประชารัฐ สร้างชุมชนปลอดการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหา ด้วยวิธีจัดประกวดหมู่บ้านปลอดการเผาและมอบรางวัล อย่างไรก็ตาม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ยังได้ประสานการปฏิบัติในปี 2560 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาในที่โล่งอย่างเด็ดขาดในพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง ให้สอดคล้องกันด้วย” นายชานนท์ คำทอง ทสจ.เชียงใหม่ กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น