ธ.ก.ส.เดินหน้าช่วยเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวอย่างเร่งด่วนฉับไว

b-1
สุพัฒน์ เอี้ยวฉาย

ธ.ก.ส.ซักซ้อมการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หวังให้เจ้าหน้าที่แบงก์ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวได้มีความเข้าใจในนโยบายมาตรการและวิธีทำงานที่จะเข้าไปลงมือในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้

เผยรัฐบาลมอบหมายให้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างเร่งด่วน พร้อมนำโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี มาช่วยเหลือเรื่องราคาข้าว โดยกำหนดให้พักหนี้เงินกู้ถึง 2 ปี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดการซักซ้อมการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ตามนโยบายรัฐบาล ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 โดยมีนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส) เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบายให้กับผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส จังหวัดเชียงใหม่

นายสุพัฒน์ เปิดเผยว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้ามาดำเนินมาตรการตามนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและชาวนา ทาง ธ.ก.ส. มีโครงการสำคัญ คือ โครงการชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปี2559/2560 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ ในส่วนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ให้เก็บข้าวไว้ก่อนเพื่อรอการขาย เพื่อที่จะได้ราคาที่ดีที่สุดตามที่ผู้ปลูกข้าวต้องการ ตามโครงการสินเชื่อรอขายข้าว โดยดำเนินการตามชนิดข้าวเปลือกหอมมะลิ, ข้าวขาว, และข้าวหอมประทุม ทั้ง 3 ชนิดข้าวเปลือก ได้ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่ทั้งนี้ ในการเข้าโครงการสินเชื่อเพื่อรอขายข้าว เป็นการดำเนินการโดยที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะปฏิบัติตามนี้ คือ ต้องตากข้าวให้แห้ง ให้มีข้าวชื้นไม่เกิน 15% ซึ่งความชื้นระดับนี้สามารถเก็บรักษาข้าวเปลือกให้ได้คุณภาพ มีระยะเวลาเก็บไว้ได้นาน ในระหว่างการเก็บข้าวในยุ้งฉางเพื่อรอการขายให้ได้ราคาที่ดี เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถมาขอรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด ด้วยการใช้เกณฑ์ราคาจากตลาด โดยให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อ 90% ของราคาตลาด เช่น ข้าวหอมมะลิ เมื่อพบว่าราคาตลาดโดยปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท ต่อตัน รัฐบาลจะให้ ธ.ก.ส. ให้สินเชื่อ 9,500 บาท ต่อตันข้าวเปลือก เพราะฉะนั้น เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเก็บเกี่ยวจากนั้นนำมาตากให้แห้งพร้อมเก็บขึ้นยุ้งฉาง และมาขอรับสินเชื่อได้ พอรอคาข้าวดีขึ้นจากเดิม ค่อยนำข้าวเปลือกไปขาย แล้วนำมาชำระ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นโครงการสินเชื่อเพื่อรอการขายข้าวเปลือก โดยโครงการนี้ได้ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นคุ้มกับค่าลงทุนที่ใช้ไปในการทำนาแต่ละรอบต่อปีการผลิต

b-2นายสุพัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากโครงการสินเชื่อเพื่อรอการขายข้าว เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เก็บเกี่ยวข้าวขึ้นยุ้งฉาง ทางรัฐบาลจะให้ค่าเก็บข้าวเปลือกราคา ตันละ 1,500 บาท และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 9,500 บาท รวมเป็น 11,000 บาท รัฐบาลยังเล็งเห็นว่าเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้เพียงพอต่อการผลิตในรอบปี จึงได้ช่วยในเรื่องของการเก็บเกี่ยวข้าว และการพัฒนาคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท ซึ่งคำนวณพื้นที่ต่อไร่เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ได้กำหนดให้เก็บค่าเก็บเกี่ยวพัฒนาคุณภาพ ข้าวหอมมะลิอัตราไร่ละ 800 บาท โดยไม่เกิน 15 ไร่ สำหรับข้าวขาวให้อัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ และสำหรับข้าวหอมประทุมให้อัตราไร่ละ 1,200 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จะเห็นว่าค่าเก็บเกี่ยวข้าว ค่าพัฒนาคุณภาพข้าว จะมีเพดานทุกชนิดข้าวเท่ากัน ไม่เกิน 12,000 บาท ต่อราย ทั้งนี้ เป็นมาตรการนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่จะให้ ธ.ก.ส. เข้าไปดูแล ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ตามที่แจ้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวว่าไม่ต้องรีบขายข้าว แต่ให้เก็บเกี่ยวข้าวและตากข้าวให้แห้ง ความชื้นไม่เกิน 15% และเก็บข้าวในยุ้งฉางของตนเอง หรือนำข้าวให้กับสหกรณ์การเกษตร, กลุ่มเกษตรกรวิสาหกิจชุมชน, องค์กรเกษตรกรเหล่านี้สามารถเก็บข้าวแทนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ และมาขอรับสินเชื่อตามที่โครงการกำหนดภายหลัง

ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามคณะนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นความลำบากของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จึงได้ขอให้ ธ.ก.ส. มีมาตรการดูแลเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ไม่ต้องกังวลต่อราคาข้าวในปีนี้ จึงกำหนดมาตรการพักชำระหนี้สำหรับหนี้เงินกู้ที่ขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ในปี2559/2560 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีหนี้เงินกู้ให้พักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี พักชำระเงินต้นเงินเป็นเวลา 2 ปี ในระหว่างการพักชำระหนี้ 2 ปี ให้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 และดอกเบี้ยส่วนที่เหลือให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรับผิดชอบ ซึ่งก็ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนลง สำหรับหนี้เงินกู้ที่กู้ไปทำนาข้าวในกรอบไม่เกินรายละ 5000,000 บาท โดยทั่วไปเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะกู้เงิน ธกส. เฉลี่ยประมาณ 300,000-400,000 บาท ต่อราย แต่เพดานที่ช่วยผู้ปลูกข้าวรายย่อยให้ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่ที่ไม่เกิน 150,000 บาท พักเงินต้น 2 ปี ชำระรับภาระ ร้อยละ 4 ที่เหลือลดดอกเบี้ย ร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งหมดนี้ เป็นโครงการที่จะเข้าไปดูเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้สามารถคลายความกังวลได้

นายสุพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยทาง ธ.ก.ส. ได้เตรียมวงเงินไว้ทั้งหมดในโครงการสินเชื่อเพื่อรอการขายข้าว เฉพาะข้าวหอมมะลิ มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 13,000,000,000 บาท และสำหรับสินเชื่อข้าวขาวและข้าวหอมประทุม มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 7,000,000,000 บาท ทั้งนี้ ในการซักซ้อมการทำงานครั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารของ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวได้มีความเข้าใจในนโยบายมาตรการและวิธีทำงานที่จะเข้าไปลงมือในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้

ร่วมแสดงความคิดเห็น