การตรวจพัฒนาการเด็ก

p13-1
พัฒนาการ (Development) หมายถึง การเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างของร่างกายและแบบแผนของร่างกายทุกส่วน การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ เป็นขั้นตอน จากระยะหนึ่งไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้เด็กมีลักษณะและความ สามารถใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้าตามลำดับ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา (สุชา จันทน์เอม ,2542 : 40 )
ซึ่งการวัดและการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ปกครองจะสามารถรู้ล่วงหน้า ถ้าหากเด็กมีปัญหาพัฒนาการ และ ผู้ปกครองสามารถ เตรียมการให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมเด็กให้มีพัฒนาการตามวัย แต่ถ้าหากพบว่าเด็กไม่ได้มีพัฒนาการล่าช้า นอกจากจะเพิ่มความสบายใจแล้ว ยังสามารถทราบถึงลำดับขั้นพัฒนาการถัดไปของเด็ก เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางการเล่นกับลูกได้
การตรวจพัฒนาการเด็กสามารถตรวจได้ตั้งแต่ขวบแรก และช่วงอายุที่เหมาะสม ควรอยู่ในช่วง 1-6 ขวบ เนื่องจาก ร่างกายและสมองจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 0-6 ปีแรกของชีวิต การให้การช่วยเหลือหรือกระตุ้นในช่วงนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ที่จะส่งผลต่อทักษะความสามารถที่ซับซ้อนเมื่อเด็กโตขึ้นไป
การตรวจพัฒนาการเด็ก จะดูความสามารถหลักๆ 4 ด้าน ได้แก่
1.ด้านสังคมและการช่วยตัวเอง หมายถึง การมีความสัมพันธ์และใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นๆ กับการดูแลตนเองในกิจวัตรประจำวัน
2.การใช้กล้ามเนื้อเล็กและการปรับตัว หมายถึง การทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา การจัดการกับของชิ้นเล็กๆ และการแก้ไขปัญหา
3.ด้านภาษา หมายถึง การได้ยิน ความเข้าใจภาษาและการใช้ภาษา
4.ด้านการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ หมายถึง การทรงตัว การเคลื่อนร่างกาย เช่น การนั่ง การเดิน การกระโดด และการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใหญ่ทั้งหมด
โดยเครื่องเมือทั่วไปที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นตัวกรองเบื้องต้น คือเครื่องมือที่เรียกว่า DENVER II ซึ่ง Denver II ไม่ได้เป็นการทดสอบเชาว์ปัญญา (IQ Test) และไม่สามารถใช้คาดการณ์ระดับความสามารถทางเชาว์ปัญญาในอนาคตได้ ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อวินิจฉัยว่าเด็กเป็นอะไร เป็นการเปรียบเทียบความสามารถด้านต่างๆ กับเด็กปกติในวัยเดียวกัน
ระยะเวลาที่ใช้ในการประเมิน ประมาณ 20-40 นาที ขึ้นอยู่กับช่วงอายุและการให้ความร่วมมือในการทดสอบ โดยอาจจะมีเด็กบางคนที่ไม่สามารถใช้เครื่องมือตัวนี้ได้ เนื่องจากอาจจะมีปัญหาด้านอื่นร่วม เช่น ไม่นิ่ง ไม่ทำตามคำสั่ง
ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ นักกิจกรรมบำบัดอาจจะต้องใช้เครื่องมือตัวอื่นเข้ามาประเมินเพิ่มเติม ซึ่งนั่นอาจจะหมายความว่า เด็กอาจจะมีภาวะสมาธิสั้น หรือ มีปัญหาพฤติกรรมการเรียนรู้ด้านอื่น ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ให้นักกิจกรรมบำบัด หาโปรแกรมฝึกกระตุ้นที่เหมาะสมได้อย่างทันที หรือพิจารณาส่งพบแพทย์ต่อไป ผู้ปกครองสามารถพาบุตรหลานมาตรวจพัฒนาการได้ ที่ห้องพัฒนาการเด็ก แผนกวัคซีน โรงพยาบาลแมคคอร์มิค ช่วงเวลาทำการ วันจันทร์ ถึง วันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
โดยสามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 089-9997138 และ 053-921777 ต่อ 1161
…..รพ.แมคคอร์มิค / ข้อมูล…..

ร่วมแสดงความคิดเห็น