เกษตรทดลองขุนวาง กับแมคคาเดเมีย ในหลวงพระราชทาน

p-113

เดินตามโครงการพระราชดำริ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวาง สังกัดกรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำหน้าที่การศึกษาวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เทคโนโลยีการผลิต วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวพืชสวนอุตสาหกรรมและพืชเมืองหนาว ได้แก่ แมคคาเดเมีย ชา กาแฟอราบิก้า เกาลัดจีน บ้วย พลัม พลับ สตรอเบอรี่ สาลี่ มันฝรั่ง พืชผัก และไม้ดอกเมืองหนาว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนพื้นที่สูงและผู้สนใจทั่วไป

นายสมคิด รัตนบุรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหลวงเชียงใหม่ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นมาของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ที่ได้ปฏิบัติงานสนองแนวพระราชดำริและการเสด็จทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ความว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จพระราชดำเนินมายังทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ของชาวไทยภูเขา หมู่ที่ 10 ตำบลแม่วิน อำเภอสันป่าตอง (ในขณะนั้น) จังหวัดเชียงใหม่ โดยการกราบบังคมทูลของหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี และทรงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน ซึ่งเป็นตัวแทนของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ทุ่งหญ้าแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกรบนที่สูง เช่น กาแฟ ข้าวไร่ ข้าวนาปรัง ไม้ผลเมืองหนาว พืชผัก และไม้ดอกไม้ประดับ

p-112วันที่ 6 เมษายน 2523 ได้สนองพระราชดำริดำเนินงาน โดยใช้อาคารในสำนักงานเกษตรภาคเหนือเป็นที่ทำการชั่วคราว และได้รับการสนับสนุนพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ผ่านโครงการหลวงใช้ในการดำเนินงาน มีหน้าที่คือ ทดสอบพันธุ์พืชจากต่างประเทศ ขยายพันธุพืชที่ผ่านการทดสอบสู่เกษตรกร ศึกษาระบบการปลูกพืชและอื่น ๆ รองรับมูลนิธิโครงการหลวงในการวิจัยพืชเมืองหนาว เป็นแหล่งดูงานและฝึกอบรม เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2524 คณะกรรมการวิชาการโครงการเกษตรที่สูง มีมติให้ใช้เปลี่ยนชื่อจาก “สถานีทดลองเกษตรที่สูงขุนวาง” เป็น “สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง” เมื่อที่ 18 กุมภาพันธ์ 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินสถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง เสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมแปลงกาแฟคาร์ติมอร์ลูกผสม ชั่วที่ 3 มีพระราชดำรัสให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาพันธุ์กาแฟอราบิก้า และได้ทรงปลูกต้นบ้วยต้นแรกในพื้นที่ทรงงานด้วย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เสด็จทรงงานที่สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง ทรงปลูกแมคคาเดเมียต้นแรกp-114

ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2538 สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง ได้รับการยกระดับเป็นศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ โดยมีสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวง และสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี จังหวัดเชียงราย เป็นสถานีเครือข่าย และรวมงานของสำนักงานเกษตรที่สูงเข้าไว้เป็นงานของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ในปี 2547 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ที่มีสถานีทดลองเกษตรที่สูงแม่จอนหลวงเป็นสถานีเครือข่าย ได้รวมกันเป็นศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1)
วันที่ 26 ธันวาคม 2554 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ได้กลับมาสังกัดสถาบันวิจัยพืชสวน มีพื้นที่ปฏิบัติงาน 5 แห่ง ได้แก่ แม่เหียะ ขุนวาง แม่จอนหลวง โป่งน้อย และผาแง่ม ผลจากความสำเร็จของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่กับการศึกษาวิจัยพืชพันธุ์ไม้หลายชนิดให้สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่สูง เป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้แก่เกษตรกรชาวไทยภูเขา ผู้เขียนขอนำเสนอพืชที่สามารถปลูกเป็นรายได้ในระยะยาวและเป็นการปลูกทดแทนป่าอย่างถาวร นั่นคือ แมคคาเดเมีย

p-221แมคคาเดเมีย เป็นพืชอุตสาหกรรมที่ตลาดโลกมีความต้องการมาก สามารถปลูกทดแทนป่า มีอายุการให้ผลผลิตยาวนาน เป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย ต่อมาได้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายรวมทั้งประเทศไทยด้วย กรมวิชาการได้ทำการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ปี 2496 จนได้พันธุ์มะคาเดเมียที่ดีและเหมาะสมกับประเทศไทย 3 พันธุ์คือ พันธุ์เชียงใหม่ 400 เป็นพันธุ์เบา ออกดอกเร็วและดก ทรงต้นตั้งตรง พุ่มเล็ก อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เปลือกของผลบาง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 400 เมตรขึ้นไป พันธุ์เชียงใหม่ 700 ทรงต้นตั้งตรง ใบมีหนามมาก ผลใหญ่และกะลาบาง สามารถปลูกและให้ผลผลิตดีในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 300-1,300 เมตร พันธุ์เชียงใหม่ 1,000 รูปทรงต้นกลม ขนาดของผลปานกลาง เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์อื่นในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ชอบอากาศเย็นและทนแล้ง การปลูกและดูแลรักษา ระยะปลูก 8×10 เมตร ในระยะเวลา 10 ปีแรกควรปลูกพืชอื่นแซมเพื่อเป็นการเสริมรายได้ ขนาดของหลุม 75x75x75 เซนติเมตร หรือ 1x1x1 เมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน รองก้นหลุมด้วยหินฟอสเฟสร่วมกับปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยอินทรีย์ ควรให้น้ำอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ในระยะติดดอกออกผลไม่ควรขาดน้ำ ในระยะเริ่มปลูก 6-12 เดือน ควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้มีกิ่งหลักเพียงกิ่งเดียว จนมีความสูง 80-100 เซนติเมตรจึงปล่อยให้มีกิ่งข้าง 2-3 กิ่ง การขยายพันธุ์ แมคคาเดียเมียขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง ติดตา เสียบยอด โดยใช้ต้นตอจากการเพาะเมล็ด เกษตรกรหลายราย หลายจังหวัด หาซื้อต้นแมคคาเดเมียจากเอกชนนำไปปลูก ทำให้ได้รับผลผลิตน้อยหรือไม่ได้ผลผลิต เสียเวลาในการปลูกหลายปี จุดนี้เอง กรมวิชาการเกษตรจึงขอแนะนำให้หาซื้อต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด แล้วทำการเสียบยอด ทาบกิ่ง ด้วยการใช้กิ่งพันธุ์ดีที่ได้รับการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น ผลผลิต หลังจากปลูก 4-5 ปี ก็จะได้รับผลผลิตครั้งแรก 1-3 กิโลกรัมต่อต้นและผลผลิตจะเริ่มเพิ่มขึ้นทุกปี เมื่ออายุ 10 ปีขึ้นไปจะให้ผลผลิต 20-30 กิโลกรัมต่อต้น เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป จะให้ผลผลิต 40-60 กิโลกรัมต่อต้น แมคคาเดเมียสามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่น้อยกว่า 50 ปี ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดูแลรักษา

ข้อคำนึงในการปลูกมะคาเดเมีย ควรปลูกในพื้นที่ที่ระบายน้ำได้ดี หน้าดินลึก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิ 10-32 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาวควรได้รับอุณหภูมิ 18 องศาเซียลเซียส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อกระตุ้นการออกดอก ในฤดูร้อนอุณหภูมิไม่ควรเกิน 32 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้กะลาแข็งตัวเร็ว เนื้อในเล็ก และพืชชะงักการเจริญเติบโต ควรได้รับแสง

แดดวันละ 10-12 ชั่วโมง เพื่อปรุงอาหารได้เต็มที่ ทำให้เนื้อในมีคุณภาพดีขึ้น ควรปลูกหลายพันธุ์ในพื้นที่เดียวกันเพื่อช่วยผสมเกสรและเพิ่มประสิทธิภาพการติดผล พื้นที่ควรให้น้ำได้ในช่วงฤดูแล้ง หากขาดน้ำจะทำให้ผลร่วงและมีขนาดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมควรมีความสูงตั้งแต่ 700 เมตรขึ้นไป โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน แหล่งผลิตพันธุ์ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเกษตรที่สูงเชียงราย (ดอยวาวี) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตาก (ดอยมูเซอ) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบูรณ์ (เขาค้อ)

p-110

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมวิชาการเกษตร 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว กทม. 10900 โทรศัพท์ 02-5790151-8 หรือ www.doa.go.th หรือ นายทนงศักดิ์ ปรากฏวงศ์ 08-6912-3707 หรือ ผู้อำนวยการศูนย์ ฯ 08-9851-1789

ร่วมแสดงความคิดเห็น