นิสิต ม.พะเยา ฉลุย เส้นทางสู่นวัตวณิชย์

5-128
นิสิตสาขาโภชนาการและโภชนบำบัด คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนิสิตการตลาด คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ระดมสมอง นำทีม Perilla oil มหาวิทยาลัยพะเยา ผ่านเข้ารอบการแข่งขันโครงการ เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market -R2M) ระดับภาคเหนือ ไปแข่งขันระดับประเทศ
เมื่อวันที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยพะเยา นำทีมนิสิตจำนวน 3 ทีม ที่ผ่านการประกวดและคัดเลือกเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมแข่งขันโครงการประกวด “เส้นทางสู่นวัตวณิชย์” (Research to Market-R2M) ระดับภาคเหนือ ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 21 ทีม จากมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ผลปรากฏว่าทีมนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยา ทีม Perilla oil (เพอ-ริล-ล่า-ออย) คว้ารางวัลชมเชย เป็นตัวแทน 1 ใน 9 ทีม ระดับภูมิภาคไปประกวดระดับประเทศ ที่จังหวัดสงขลา
โดยสมาชิกทีม Perilla oil (เพอ-ริล-ล่า-ออย) ประกอบด้วย นายศักดิ์สิทธิ์ ทาแก้ว , น.ส.สุนิภัณฑ์ คำปัน , และน.ส.อาริสรา คำเครื่อง นิสิตสาขาโภชนาการและโภชนบำบัด ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายสุวพิชญ์ มณีพงษ์ และนายจารุกิตต์ ปานสี นิสิตสาขาการตลาด ชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ ผลงานวิจัยที่นำไปต่อยอดนำเสนอแผนธุรกิจ คือ ผลิตภัณฑ์น้ำมันงาม้อนแคปซูลในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ได้จากการศึกษาคุณประโยชน์ของงาม้อน พืชมหัศจรรย์ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 มากกว่าปลาทะเลน้ำลึก 15-20 เท่า มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบของผนังหลอดเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงสมอง และมีสารอาหารอื่นๆ อีกมากมาย
นายศักดิ์สิทธิ์ ทาแก้ว สมาชิกในทีม กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและประทับใจที่ได้เข้ามาประกวดระดับภูมิภาค ทีมเราทุ่มเทด้วยความตั้งใจ บางครั้งก็ท้อบ้าง แต่ก็พยายามทำจนสุดความสามารถ ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยที่เรานำมาต่อยอดเป็นงานที่มีคุณค่า ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้และส่งเสริมสุขภาพให้กับคนไทยอีกด้วย
ขณะที่นายสุวพิชญ์ มณีพงษ์ กล่าวว่า จากการนำผลิตภัณฑ์น้ำมันงาม้อน มาทำแผนธุรกิจเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งในท้องตลาดก็มีคู่แข่งเยอะ แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าเราแตกต่างจากคู่แข่งและขายได้จริง
สำหรับโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (นะ-วัต-ตะ-วะ-นิด) จัดขึ้นโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้ทดลองนำผลงานวิจัยที่มีอยู่จริงและผ่านการรับรองจากอาจารย์ภายในมหาวิทยาลัย มาต่อยอดทำแผนธุรกิจและแผนการตลาด ซึ่งเป็นการจำลองการประกอบธุรกิจในชีวิตจริง นับเป็นความท้าทายที่ทำให้ผู้เข้าแข่งขันได้ทดสอบตนเองก่อนไปประกอบอาชีพอย่างจริงจังหลังจากจบการศึกษา ทั้งยังช่วยให้นิสิตและนักวิจัยได้เห็นภาพที่ชัดเจนของการต่อยอดการเชื่อมโยงงานวิจัยจากห้องปฏิบัติการไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภคอย่างแท้จริง และเพื่อปลูกฝังแนวคิดที่ว่า การวิจัยและพัฒนาไม่ได้เสร็จสิ้นเพียงแค่การปฏิบัติเท่านั้น แต่ต้องมีการสานต่อไปจนถึงการใช้งานได้จริงด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น