สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ดันเครือข่ายดาราศาสตร์ผงาดในเวทีวิทย์อาเซียน

b-5-jpg

สดร. ดันเครือข่ายดาราศาสตร์ ผงาดเวทีวิทย์อาเซียน พร้อมเดินหน้าพัฒนาดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินหน้ากำหนดทิศทางความร่วมมือดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ ระหว่างเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ หวังพัฒนาดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืน ในการประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 71 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
การประชุม ASEAN COST ครั้งที่ 71 (The 71st ASEAN Committee on Science and Technology Meeting) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 29 ตุลาคม 2559 ณ โรงแรม อัปสรา พาเลซ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา มีเป้าหมายผลักดันการดำเนินงาน ภายใต้กรอบโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือด้านดาราศาสตร์ในเวทีอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการลงนามความร่วมมือระหว่างเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAAN) Southeast Asia Astronomy Network และคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ (SCOSA) ต่อไป
รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ประธานเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “สดร. ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เกิดความร่วมมือระหว่างเครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAAN) กับ คณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ (SCOSA) อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา สดร. ผลักดันให้เครือข่ายดาราศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ยอมรับและบรรจุอยู่ในความร่วมมือภายใต้การประชุมคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ASEAN COST) เนื่องจากดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้ดาราศาสตร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ทั้งสองหน่วยงานจะเดินหน้ากำหนดทิศทางวางแผนดำเนินร่วมกันในอนาคตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการพัฒนาทางด้านดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้เพิ่มดาราศาสตร์เข้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของแผนการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปี 2559 – 2568 ภายใต้กิจกรรมการจัดอบรมและการประชุมวิชาการ มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยีอวกาศและดาราศาสตร์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป รศ.บุญรักษา กล่าวปิดท้าย
กลุ่มงานวิเทศสัมพันธ์/ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ /สดร.ข้อมูล-เรียบเรียง

ร่วมแสดงความคิดเห็น