ท่องเที่ยวชุมชน บนเส้นทางทัวร์

4-jpg

ประเทศไทยมีต้นทุน ด้านทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และได้สร้างรายได้สู่ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ผ่านยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยวแบบเข้มข้น ต่อเนื่อง เช่นแผนปี 58-60 ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ รายได้เกินคาดหวัง จากที่ตั้งไว้ราวๆ 2.2-2.3 ล้านล้านบาท กวาดมาเกือบ 2.4 ล้านล้านบาท
และประเมินว่าในปี 2560 นั้น 2.5 ล้านล้านบาท คงไม่พลาดเป้าหมาย
นโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ก้าวเดินสู่….วาระแห่งชาติ..เน้นกิจกรรมที่จำเป็นเร่งด่วน และให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อน สู่แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงกลุ่มจังหวัด สนับสนุน ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนกิจกรรม โครงการต่างๆ จะเห็นได้จากผลรับที่เกิดขึ้นจาก 12 เมืองต้องห้าม ท่องเที่ยวชุมชน ช่วยให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งสร้างรายได้ และกระจายรายได้สู่ชุมชน เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย วางรากฐานการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประเทศไทย เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน
ดังนั้น ฤดูกาลท่องเที่ยว ..ในบ้านเราจึงนำมาซึ่ง “ความหวัง” และเป็นแรงผลักดันให้ “ชุมชน” จำนวนหนึ่งเลือกที่จะนำเสนอ ”ท่องเที่ยวชุมชน” เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ในชุมชน
มีชุมชนไม่น้อยทั่วไทย ประสบผลสำเร็จบนเส้นทางทัวร์
และหนึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา สามารถสร้างจุดแตกต่าง จนอาจกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการเดินทางมาเยือน มาสัมผัส จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและจากทั่วทุกมุมโลก
ซึ่งพิกัดพื้นที่ดังกล่าว ยังคงเป็นความพยายามกันต่อไป แม้ไทยจะติดอันดับท็อปเทน ในเป้าหมาย แต่ถ้าเทียบกับฝรั่งเศสที่มี นักท่องเที่ยวในแต่ละปีกว่า 80 ล้านคน ทั้งๆ ที่ พื้นที่และจำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกันในขณะที่ไทย พยายามสู่เป้าหมาย ที่ต้องใช้เวลาพอสมควร
ทั้งนี้ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยว มองว่า บ้านเรายังบริหารจัดการ แหล่งท่องเที่ยวแบบตำรับตำราเดิมๆ วิธีคิดและการนำเสนอ ยังคงเน้นเฉพาะช่วงเทศกาล ไม่มีความต่อเนื่อง มิหนำซ้ำยังคงมีมิติที่ปลุกปั้น พื้นที่ท่องเที่ยวในกระแส จนสร้างปัญหาติดตามมา ทั้งขยะ รถติด การปลูกสร้าง อาคารที่พัก
พลิกสภาพจากเมืองท่องเที่ยวที่น่าหลงใหล ผู้คนเคย..คลั่งไคล้ ต้องเบนเข็มจุดหมายปลายทางไปสู่แหล่งอื่น เพื่อหลบหลีก สภาพ แย่งกันเที่ยว แย่งกันกิน แย่งกันเซลฟี่ วุ่นวายไปทั้งชุมชนที่เคยสงบเงียบ สวยงาม
ด้วยศักยภาพเมือง หรือชุมชน แต่ละแห่ง แตกต่างกัน อาจจะขายความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เมืองวัฒนธรรม เมืองมรดกโลก วิถีไทย วิถีชุมชนที่คงเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถ สร้างตำนาน สร้างสีสันจุดขายที่น่าสนใจในการท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นกอบเป็นกำ
ในพื้นที่ เชียงใหม่นั้น การนำเสนอ วิถีชนพื้นถิ่น ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ในชุมชนไว้อย่างเหนียวแน่น เท่าที่มีการนำเสนอในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนนั้นจะเป็น ชุมชนไตลื้อ ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด โดยท้องถิ่น ร่วมกับชุมชน ตลอดจน สกว. ดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
และรูปแบบการส่งเสริมท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่บ้านไร่กองขิง อ.หางดง เชียงใหม่ เป็นอีกกิจกรรมแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่ง ททท.นำเสนอในตลาดท่องเที่ยว

5-jpg

แนวทางในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้เกิดความยั่งยินได้นั้น มีงานวิจัยระบุหลักการพื้นๆ ว่า ชุมชนเป็นเจ้าของ ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง ยกระดับคุณภาพชีวิต มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ควรก่อให้เกิดการเรียนรู้ ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม เคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ผู้คนในท้องถิ่น และที่สำคัญควรต้องมีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชนด้วย
ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วไทยนั้น จะมีไม่กี่จังหวัดเท่านั้นที่มีนักท่องเที่ยวทะลุล้านคนต่อปี
ในจังหวัดใหญ่ๆ จะมีไม่กี่อำเภอ ที่มีแหล่งท่องเที่ยว โดดเด่น เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทรุดโทรมในพริบตากับกระแสนักท่องเที่ยว แห่แหนไปเที่ยวชมในช่วงติดกระแส
แม้จะโกยรายได้ สร้างความมั่งคั่งในชั่วข้ามคืน แต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปริมาณขยะ จำนวนผู้คนที่มากเกินไป ส่งผลให้สินค้า ที่พัก อาหาร การเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
เมื่อมีปัญหาสั่งสม ผู้คน นักท่องเที่ยวก็ค่อยๆ จางหาย เช่น แหล่งท่องเที่ยว ดังๆ ในอำเภอต่างๆ ของภาคเหนือ สภาพ อาคาร ร้านค้า ที่พักต้องปิดปรับปรุง เซ้งกิจการกันเป็นจำนวนมาก เพราะการตัดสินใจลงทุนตามกระแส..ท่องเที่ยวชุมชน ที่ไม่มีความยั่งยืน
ยุคไร้พรมแดน การพัฒนา การสร้างสรรค์ชุมชนให้ติดตลาด เกิดกระแสท่องเที่ยวชุมชนได้นั้นไม่ควรใช้พิมพ์เขียวโมเดลแบบเดียว
อย่าแลกต้นทุนของธรรมชาติ วัฒนธรรม กับกิจกรรมที่ไม่สร้างการเรียนรู้ หรือพัฒนาแบบมีคุณค่า ตัวเลขของนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ชี้ความสำเร็จของการพัฒนาท่องเที่ยว
จะพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ให้อยู่ได้นาน นักท่องเที่ยวต้องประทับใจ ได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้
ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าบ้าน กำหนดทิศทาง บริหารจัดการ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส แลกเปลี่ยน เรียนรู้วิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด
หากปรับโมเดล..ทบทวนเทคนิค สูตรใหม่ๆ.. อาจไม่ต้องโรดโชว์ ….จัดสรรงบฯ กระตุ้นตลาด….เพื่อดึงดูดแขก..อย่างเหน็ดเหนื่อยก็ได้…
ท่องเที่ยวไทย สดใสเริงร่า….ถ้าทุกคนช่วยกัน…..เที่ยวเมืองไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น