ผุดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการส่งออกลำไยลำพูน

b-1
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก ที่จังหวัดลำพูน หนุนขีดความสามารถของเอกชน และชุมชน ให้เกษตรกรลำไยสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม แก้ปมปัญหาลำไยล้นตลาด
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 ที่องค์ การบริหารส่วนตำบลเหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเอกชน และชุมชนเกษตรกรลำไย ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อแก้ไขปัญหา ลำไยล้นตลาด โดยมี นางสาวปาณี นาคะนาท รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นำหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด และประชาชน ต.เหล่ายาว ให้การต้อนรับ
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า จากการที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้จัดทำโครงการปรับปรุงคุณภาพและบริหารจัดการลำไยให้ได้มาตรฐานการส่งออก เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีมาตรฐานการส่งออกลำไยที่เข้มงวดขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพ การคัดแยกตามเกรด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในลำไยของไทยต้องไม่เกินมาตรฐาน รวมทั้งเกษตรกรยังประสบปัญหาในด้านการเพาะปลูก และปริมาณผลผลิตลำไยที่ล้นตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและแก้ปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาด
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำโครงการ ยืดอายุลำไยเพื่อแก้ไขปัญหาลำไยล้นตลาด และได้จัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก แห่งนี้ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดลำพูน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเป็นอย่างดี
สำหรับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก ที่อบต.เหล่ายาว อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน นับเป็นโรงรมลำไยดวยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ต้นแบบที่ได้มาตรฐานเพื่อการส่งออกลำไย โดยมีการออกแบบระบบที่สามารถปรับทิศทางการไหลของก๊าซ สามารถควบคุมสถาวะพร้อมเครื่องผลิตก๊าซ ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพสูงในการช่วยลดปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่อาจตกค้างในเนื้อลำไยได้ รวมทั้งช่วยลดกำมะถัน และลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่อากาศ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน
นอกจากนี้ วว.ยังให้บริการที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาโรงรมให้ได้มาตรฐาน GMP ผลิตแรงงานคุณภาพสำหรับโรงรม และการประยุกต์ใช้โทรศัพท์อัจฉริยะถอดรหัส QR CODE เพื่อทวนสอบลำไย รวมทั้งการทำงานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากลำไย การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ลำไย การทำแนวกันชนระหว่างโรงรมและพื้นที่อ่อนไหว เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และการตรวจติดตามและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น