สกู๊ปหน้า 1 …สสก.6 กับมาตรการหยุดเผา ในพื้นที่การเกษตร เพื่อ 5 ดี

111 ในช่วงนี้เกษตรกรภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่ได้ทำการเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดและพืชอื่นๆ เสร็จแล้ว และเกษตรกรมักทำการเผาฟางข้าว ตอซังข้าว ซังข้าวโพด หรือเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินในการเพาะปลูกในฤดูการผลิตต่อไปและถ้าเป็นไร่อ้อยจะเผาเพื่อสะดวกในการตัดและลดต้นทุนค่าจ้างตัด ดังนั้นการเผาในพื้นที่การเกษตรจะมีผลกระทบหลายด้าน ได้แก่

1.ด้านการเกษตร การเผาจะทำลายอินทรีย์วัตถุ และธาตุอาหารในดิน การเผาฟางข้าวเหมือนกับการเผาปุ๋ย ทำให้สูญเสียธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช โดยทำลายธาตุอาหารหลัก (N-P-K) คิดเป็นมูลค่าเงินได้ถึง 216 บาท/ไร่ กล่าวคือ สูญเสียไนโตรเจน(N) ปริมาณ 6.9 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 79 บาท/ไร่, ฟอสฟอรัส (P) ปริมาณ 0.8 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 10 บาทต่อไร่ และโพแทสเซียม (K)ปริมาณ 15.6 กก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่า 172 บาท/ไร่

2.ด้านผิดกฎหมาย หากผู้ใดทำการเผาอาจต้องระวางโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 218 และมาตรา 220 อาจถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท

3.ด้านสุขภาพอนามัย ทำลายสุขภาพเป็นอันตรายต่อชีวิต ก๊าซคาบอนมอนนอกไซด์ (CO) ทำให้เกิดอาการปวดศรีษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และถ้าได้รับจำนวนมากอาจหมดสติและเสียชีวิตได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ทำให้เกิดระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ เช่นลำคอ ซึ่งอาจทำให้แน่นหน้าอก และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM10) ที่เกิดจากการเผาสามารถไปในระบบทางเดินหายใจ เกิดผลเสียต่อร่างกาย อาจทำให้หลอดลมอักเสบเป็นโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง หรือโรคมะเร็งปอดได้

4.ด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การเผาทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาจะลอยตัวขึ้นไปปนเปื้อนกับไอน้ำในชั้นบรรยากาศ ทำให้ไอน้ำไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถรวมตัวและกลั่นตกลงมาเป็นฝนได้ ทำให้โลกร้อน เกิดปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วงและน้ำท่วมขังการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรในที่โล่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซคาบอนไดออกไซด์ มอนนอกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) ไนตรัสออกไซด์ (N2O) ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้โลกร้อนขึ้น ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น เกิดน้ำท่วมหนัก ฝนแล้งเป็นเวลายาวนาน

5.ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ปัจจุบันภาคเหนือตอนบนมักประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ทำให้อากาศไม่แจ่มใส ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างมากมาย นอกจากนี้อาจเป็นข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศได้

222

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ ปี 2560 ของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ว่าที่ร้อยตรี ดร. สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าในพื้นที่การเกษตร 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน พะเยา ลำพูน ลำปาง และจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ซึ่งเกิดการเผาซ้ำซากและได้มีการออกมาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาทุกๆ ปี และในปี 2560 นี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาพื้นที่เกษตรของภาคเหนือตอนบนให้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่

จึงได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร โดยมีมาตรการให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดและศูนย์ปฏิบัติการ ดำเนินการดังนี้

1.มาตรการป้องกัน ในชุมชนจะมีประวัติการเผาจาก Hot Spot และอาจรู้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ชอบเผาในพื้นที่การเกษตรกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือทหารตำรวจปกครองในพื้นที่ควรเชิญบุคคลดังกล่าวมาปรับทัศนคติให้หยุดเผาในเวลาห้ามเผา

2.มาตรการควบคุม ให้เกษตรกรในชุมชนควบคุม ไม่ให้เกิดการเผา สร้างกฎเกณฑ์ในชุมชน อาจมีกิจกรรมให้ความรู้ที่ดีของการไม่เผาและข้อเสียของการเผาบุคคลหลักได้แก่ เกษตรกรผู้นำอาสาสมัครเกษตร โดยดำเนินการร่วมกันทุกหน่วยงาน

3.มาตรการแก้ไขปัญหา หากเกิดการเผา ชุมชนช่วยกันรีบดับไฟ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมรถดับเพลิงไว้ดับไฟหน่วยดับเพลิงของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเตรียมอุปกรณ์พร้อมที่จะดับไฟได้ทุกเมื่อ

4.มาตรการส่งเสริมการใช้วัสดุทางการเกษตรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เช่น การไถกลบตอซังข้าว หรือการปลูกพืชเป็นปุ๋ยพืชสดเป็นวิธีการที่ในการปรับปรุงบำรุงดินและเพิ่มธาตุอาหารแต่มีค่าใช้จ่ายเกษตรกรสามารถสร้างทางเลือกทำปุ๋ยหมักปุ๋ยชีวภาพจากฟางข้าวทิ้งไว้ในนาหลังการเก็บเกี่ยวก็จะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องลงทุน ความร้อนจากแสงอาทิตย์จะทำให้ฟางข้าวกรอบเนื่องจากความร้อนของแสงแดดช่วงเดือนมกราคม – เมษายน จะร้อนจัด เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมฝนตก จะทำให้เกิดน้ำขังในกระทงนา และฟางข้าวจะอ่อนตัวและแช่น้ำกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพในกระทงนาเป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้วฟางข้าว 1 ไร่ มีปุ๋ยอยู่เป็นจำนวนมากหากเผาทิ้งจะทำให้สูญเสียธาตุอาหารพืชในดินเทียบกับสูญเสียปุ๋ยสูตรต่างๆ เช่น สูญเสียปุ๋ยยูเรียจำนวน 19.56 กิโลกรัม, ปุ๋ยสูตร 16-20-0 จำนวน 35 กิโลกรัม, ปุ๋ยสูตร 0-0-60 จำนวน 34.86 กิโลกรัม ธาตุซิลิกอนที่ทำให้ต้นข้าวแข็งแรงจำนวน 28 กิโลกรัม จะเห็นได้ว่า ถ้าเราไม่เผาฟางข้าวทิ้งก็สามารถลดต้นทุนการผลิตได้และลดภาวะปัญหาหมอกควัน

เมื่อเกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรแล้วจะได้สิ่งดีๆ 5 อย่างคือ อากาศดี สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดีและได้ปุ๋ยดีจากธรรมชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น