รายงานพิเศษ สดร. จับมือสสวท. เปิดเวทีเยาวชนเสนองานวิจัยดาราศาสตร์

b-8-jpg
สดร. จับมือสสวท. เปิดเวทีเยาวชนเสนองานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนต่อเนื่องปี 3หวังต่อยอดสร้างยุววิจัยรุ่นใหม่ดันสู่เวทีสากล
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการจัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (TACS 2016 : Thai Astronomical Conference Student Session 2016) ดึงเยาวชนทั่วประเทศร่วมนำเสนอผลงานกว่า 50 โครงงานเปิดเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนและสร้างเครือข่ายการทำโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนหวังต่อยอดสร้างยุววิจัยรุ่นใหม่ตามแผนพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ของประเทศ

b-9-jpg

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชน จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 ปีนี้มีเยาวชนให้ความสนใจส่งโครงงานดาราศาสตร์เข้าร่วมนำเสนอกว่า 49 เรื่อง จาก 16 โรงเรียนทั่วประเทศ แบ่งเป็น การนำเสนอผลงานแบบบรรยาย 31 เรื่องและแบบโปสเตอร์ 18 เรื่อง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1) ดวงอาทิตย์ 2) ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3) ดาวฤกษ์ 4) ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ 5) กาแล็กซีและเอกภพ และ 6) อุปกรณ์และโปรแกรมทางดาราศาสตร์ ผลงานที่นำเสนอภายในงานส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของครูและนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงในความร่วมมือระหว่าง สดร. กับ สสวท. ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนด้านดาราศาสตร์ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างผลงานวิจัยในรูปแบบโครงงานดาราศาสตร์ในโรงเรียน มีครูเป็นผู้กำกับดูแล ให้คำปรึกษา และสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศของ สดร. สำหรับทำงานวิจัย โดยมีเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. และผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ เปิดโอกาสให้โรงเรียนจากทั่วประเทศที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วมนำเสนอในงานดังกล่าวด้วย ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์และกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ พร้อมจัดบรรยายพิเศษ สำหรับประชาชนทั่วไป ชวนหาคำตอบ “ดาวอังคาร…บ้านหลังถัดไปของมนุษย์” จริงหรือไม่ ?!? โดย“ป๋องแป๋ง” อาจวรงค์ จันทมาศ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
สดร. มุ่งหวังให้งานประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชน เป็นเวทีสำหรับเยาวชนไทยที่สนใจดาราศาสตร์ มีโอกาสมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ร่วมรับฟังพร้อมให้คำแนะนำในเรื่องต่าง ๆ เพื่อนำไปต่อยอดงานวิจัย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ ให้เกิดยุววิจัยรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ยังก่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับยุววิจัยและก้าวสู่เครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต รศ.บุญรักษา กล่าวปิดท้าย

b-10-jpg

ด้านนายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ กล่าวว่า โครงงานที่เข้าร่วมการนำเสนอในปีนี้ มีความหลากหลายมากขึ้น เด็กทุกคนมีการเตรียมตัวและการนำเสนอค่อนข้างดี เกิดจากความสนใจและการตั้งคำถามของผู้ศึกษา สดร. เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันและทำให้เกิดไอเดีย พร้อมทั้งสร้างเวทีระดับประเทศขึ้นเพื่อรองรับการศึกษาค้นคว้าวิจัยในการทำโครงงานดาราศาสตร์ระดับเยาวชน เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งผู้นำเสนอและผู้เข้าร่วมรับฟังสามารถเห็นตัวอย่างของโครงงานอื่นๆ สร้างไอเดียและเกิดแรงบันดาลใจใหม่ๆ โอกาสความหลากหลายของโครงงานในอนาคตและการแข่งขันที่เข้มข้นก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ศึกษาจึงต้องมีการพัฒนาคุณภาพของงานตนเองให้ดียิ่งขึ้น นอกจากการได้ลงมือปฏิบัติแล้ว ยังได้พัฒนาและมีความเข้าใจในเรื่องที่ตนศึกษาได้อย่างแท้จริงอีกด้วย นายมติพล กล่าวปิดท้าย

b-12-jpg

นางสาวสิดารัศมิ์ คำภักดี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย มุกดาหาร กล่าวว่าได้เข้าร่วมโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. จึงมีโอกาสมานำเสนอผลงานในครั้งนี้ ในหัวข้อ “การศึกษาวงโคจรของดวงจันทร์ตามกฏข้อที่สองของเคปเลอร์” ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ได้เข้าร่วมนำเสนอ ปีนี้มีคนสนใจมากขึ้นเห็นได้จากมีผู้เข้าร่วมนำเสนอผลงานผู้เข้าฟังและชมนิทรรศการความรู้รวมถึงสื่อดาราศาสตร์ที่สถาบันฯนำมาจัดแสดงมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้แล้วตนเองยังได้รับประสบการณ์ที่ดี คำแนะนำและข้อเสนอแนะจากพี่ ๆ NARIT สามารถนำไปต่อยอดงานวิจัยหรือสร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัยเรื่องอื่น ๆ รวมถึงการได้มาเจอเพื่อน ๆ ต่างโรงเรียนก็ถือเป็นการสร้างเครือข่ายดาราศาสตร์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยของโรงเรียนอื่นได้ด้วย

b-13-jpg

ด้าน นายสมเกียรติ์ ลอเลาะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแกน้อยศึกษา จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเองได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมฟังการนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการดาราศาสตร์เพื่อเยาวชนครั้งที่ 2 (TACS2015) ที่ผ่านมาและได้เข้าร่วมโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. ปีนี้มีโอกาสจึงได้สมัครเป็นผู้นำเสนอ โดยโครงงานเกิดจากความสนใจส่วนตัวในเรื่องของดวงอาทิตย์ ในหัวข้อ “การหาขนาดเชิงมุมของดวงอาทิตย์และระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์” โดยมีการใช้กล้องดอปโซเนียนที่ได้รับจาก สดร. เป็นอุปกรณ์ในการศึกษา ได้รับคำแนะนำที่ดีจากพี่ ๆ NARIT และประสบการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอในเวทีใหญ่ระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดและพัฒนาความรู้ในอนาคตต่อไปได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น