การวิจัยเพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0

เมื่อวันที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 41 และนานาชาติ ครั้งที่ 5 (The 41st National and 5th International Graduate Research Conference) พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การวิจัยเพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0” โดยมี รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้บริหารและคณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา, นักวิชาการ, นักวิจัย ตลอดจนผู้นำเสนอผลงานวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 600 คน เข้าร่วมการประชุม
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศให้เป็น Thailand 4.0 ทำให้เราต้องตีความและทำความเข้าใจก่อนว่า Thailand 4.0 คืออะไร เพราะหากเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า Thailand 4.0 ก็จะทำให้คำนี้กลายเป็นนามธรรมและไม่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติใด ๆ ได้
Thailand 4.0 ในแง่มุมของการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาประเทศโดยใช้นวัตกรรม (Innovation) ที่เน้นประสิทธิภาพ (Efficiency) ของการทำงาน เช่น การใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์หรือการใช้แรงงานให้น้อยลงเพื่อเพิ่มผลผลิต เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องระวังการนำคำว่านวัตกรรมมาใช้ เพราะหลายคนยังสับสนว่านวัตกรรม คือ Creative หรือ Artistic แต่ความจริงแล้วสิ่งที่เป็นนวัตกรรมต้องสามารถนำมาทำการค้าหรือนำมาทำธุรกิจที่มีผลกำไรได้ (Commercialise) ซึ่งประเทศที่ทันสมัยจะใช้แนวทางดังกล่าวในการพัฒนาประเทศ สำหรับประเทศไทยคำว่า Thailand 4.0 เป็นคำที่ติดตลาดแล้ว หากเราเข้าใจความหมายของคำนี้ก็จะทำให้เห็นภาพการพัฒนาได้ชัดเจนขึ้น
ในส่วนของการวิจัยเพื่อขับเคลื่อน Thailand 4.0 นั้น ที่ผ่านมามีข้อมูลว่าประเทศไทยลงทุนด้านการวิจัยน้อยมากและยังขาดแคลนนักวิจัย ทำให้ต้องเร่งสร้างนักวิจัย ด้วยการส่งนักศึกษาและนักวิจัยไปศึกษาต่อในต่างประเทศจำนวนมาก แต่เมื่อจบการศึกษาแล้วนักศึกษาและนักวิจัยเหล่านี้ไม่ได้กลับมาเป็นนักวิจัยเต็มตัว นักวิจัยดังกล่าวจึงไม่ตอบโจทย์ Thailand 4.0 ที่เน้นนวัตกรรม อีกทั้งนักวิจัยแบบ Thailand 4.0 คือ นักประดิษฐ์ เพราะงานวิจัยบางชิ้นอาจทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้ แต่ไม่อาจตอบโจทย์ Thailand 4.0 ได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ การวิจัยมีทั้งการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) ซึ่งสิ่งสำคัญของการวิจัยคือต้องมีเงินลงทุน อีกทั้งข้อมูลสถิติงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่างานวิจัยที่ทำให้เกิดนวัตกรรม มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหรือมีคนที่มีความเชี่ยวชาญจำนวนมาก ประกอบกับการที่มหาวิทยาลัยมีความเชื่อมโยงประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนรายใหญ่ ดังนั้น งานวิจัยที่จะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ มหาวิทยาลัยและภาคเอกชนต้องหารือร่วมกันตั้งแต่แรก เพื่อให้ได้แนวทางการสร้างนวัตกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น