สดร. เผยฝนดาวตกเจมินิดส์ปีนี้ตรงกับจันทร์เต็มดวง สังเกตเห็นยาก


สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ปีนี้ตรงกับคืนจันทร์เต็มดวง โอกาสเห็นยากมากเนื่องจากมีแสงจันทร์รบกวนตลอดคืน
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ในปี2559 นี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เป็นช่วงดวงจันทร์เต็มดวงพอดี แสงจันทร์สว่างตลอดทั้งคืนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ แต่ก็อาจพอสังเกตเห็นได้บ้างในกรณีเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงรุ่งเช้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ระหว่างดาวพอลลักซ์ และดาวคาสเตอร์ และนอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วในปีนี้ยังมีฝนดาวตกเออร์ซิดส์ อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง หลังดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณตีสามของรุ่งเช้าวันที่ 23 ธันวาคม 2559
ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่ มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น