ชุมชนยูนนานกับอดีตทหารก๊กมินตั๋งที่บ้านรักไทย

ภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์รวมถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีหมอกปกคลุมถึง 3 ฤดู คือ หมอกน้ำค้างในฤดูหนาว หมอกจากควันไฟป่าในฤดูแล้งและหมอกฝนในฤดูฝน อันเป็นที่มาของชื่อเมืองสามหมอกนับเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนแม่ฮ่องสอนมากขึ้น

ภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์รวมถึงวิถีชีวิตอันเรียบง่าย ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรมประเพณี บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนการแต่งกายแบบ “ชุดไต” นับเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนแม่ฮ่องสอนมากขึ้น และจากความสมบูรณ์ของธรรมชาติในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีหมอกปกคลุมถึง 3 ฤดู คือ หมอกน้ำค้างในฤดูหนาว หมอกจากควันไฟป่าในฤดูแล้งและหมอกฝนในฤดูฝน ดังนั้นจึงเป็นที่มาของชื่อ”เมืองสามหมอก”
แม่ฮ่องสอน ในอดีตถือเป็นดินแดนเร้นลับ เป็นเมืองที่มีแนวชายแดนติดประเทศพม่าตั้งแต่ทิศเหนือจรดทิศตะวันตก นับเป็นพรมแดนที่ยาวที่สุด

บ้านรักไทย เป็นหมู่บ้านสุดท้ายก่อนถึงชายแดนไทย – พม่า ด้านทิศหนือ เป็นชุมชนชาวฮ่อที่อพยพหนีภัยมาจากทางตอนใต้ของจีน ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์
ประวัติชุมชนบ้านรักไทย ต.หมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน แต่เดิมสภาพบ้านรักไทยส่วนใหญ่เป็นป่าหญ้าคาสลับกับป่าเบญจพรรณ ปกคลุมยอดเขาสูงอยู่ทั่วไป ไม่มีคนอาศัยอยู่มากนัก พบเพียงชุมชนชาวม้ง 4-5 ครอบครัว ทำไร่ฝิ่นและปลูกข้าวโพด ตามแนวเขาริมชายแดนพม่า โดยมียอดดอยต๋องแม่ย๊อด เป็นยอดเขาสูงสุดทำหน้าที่กั้นเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ทอดยาวไปจนถึงจังหวัดเชียงราย
ในช่วงหลังมีคนเข้ามาอาศัยในชุมชนนี้มากขึ้น คนพื้นเมืองเรียกชุมชนบ้านรักไทยว่าบ้านแม่ออใหม่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีความมุ่งหมายให้คล้องจองกับชื่อชุมชนบ้านแม่ออหลวง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกันในเขตพม่า คำว่า “แม่ออ” เป็นคำที่มาจากภาษาจีนว่า “หมี่ออ” แปลว่า “ที่เก็บข้าว” บางคนคนไทใหญ่ก็เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “โท้งเย่ข้าว” ซึ่งมีความหมายว่า “ยุ้งฉางเก็บข้าว” เนื่องจากบริเวณแห่งนี้มีที่ราบลุ่มสำหรับปลูกข้าว
เมื่อราว 30 ปีก่อน ที่บ้านแม่ออใหม่ จะกลายมาเป็นหมู่บ้านรักไทยนั้น กองกำลังอดีตทหารคณะชาติ กองพล 93 ของนายพลต้วนซีเหวิน หรือนายพลต้วน ได้นำกำลังทหาร ทจช. นำกำลังมาหลบภัยทางการเมืองบริเวณแนวชายแดนไทย โดยกองกำลังของนายพลหลี่ มีฐานบัญชาการอยู่ที่บ้านถ้ำงอบ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กองกำลังของนายพลต้วน มีฐานบัญชาการอยู่ที่ดอยแม่สลอง อ.แม่จัน จ.เชียงราย กองกำลังของนายพลทั้งสองได้กระจายอยู่ตามพื้นที่ชายแดนไทย พม่า เก็บภาษีค่าผ่านแดนและให้ความคุ้มครองแก่คาราวานพ่อค้าที่เดินทางค้าขายระหว่างไทยกับพม่า
ปี พ.ศ.2510 นายพลหลี่ ผู้บังคับบัญชาฐานบ้านถ้ำงอบ ได้มอบหมายให้นายกุงเจาหล่ง ผู้บังคับกองร้อย นำกำลังทหาร 180 นาย ไปประจำที่ด่านที่ช่องทางบ้านนาอ่อน บริเวณแนวชายแดนไทยทางทิศตะวันตกบ้านนาปาแปก ตรงข้ามบ้านนาอ่อนเพื่อแสวงหาทำเลที่สมบูรณ์ไว้รองรับครอบครัวของทหารจีนคณะชาติ
กุงเจาหล่ง ออกเดินทางด้วยเท้าและม้า จากฐานบ้านถ้ำงอบ ผ่านสันเขาถนนธงชัยตามแนวชายแดนไทยพม่า เป็นเวลา 6 วัน จนถึงดอยต๋องแม่ย๊อด ใกล้หมู่บ้านรักไทย จากนั้นจึงได้ให้ทหารทำการปรับพื้นที่และสร้างฐานบัญชาการ ต่อมาปี พ.ศ.2516 มีครอบครัวทหารจีนคณะชาติ จากกองพล 93 บ้านถ้ำงอบประมาณ 2-3 ครอบครัวเดินทางอพยพติดตามสามีที่เป็นทหารเข้ามาปลูกบ้านเรือน ทำสวนไร่นาในเขตพื้นที่บ้านรักไทย ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชนบ้านรักไทยตั้งแต่นั้นมา โดยครอบครัวแรกที่อพยพเข้ามาคือครอบครัวของนายโกวยี่ฉ่าย หยางเจินอางและนางหลงเซียน แซ่หลิน
ปัจจุบันบ้านรักไทย ถือเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีธรรมชาติสวยงามมาก บริเวณกลางหมู่บ้านมีทะเลสาบขนาดใหญ่ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนสามารถสัมผัสวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวจีนฮ่อ รวมถึงการสืบทอดประเพณีของชาวจีนฮ่อหลายอย่าง ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน การแต่งกายและบ้านเรือนซึ่งสร้างจากดินเหนียวผสมฟางข้าว นอกจากนั้นอาหารจีนยูนนานของบ้านรักไทยก็มีชื่อเสียงไม่แพ้ที่ชุมชนชาวจีนฮ่อบนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย
ที่สำคัญนักท่องเที่ยวยังจะได้ชิมชารสเลิศจากชาพันธุ์ดี ซึ่งมีจำหน่ายในหมู่บ้าน ได้แก่ ชาพันธุ์อูหลง ใกล้ ๆ กับบ้านรักไทยเป็นชุมชนบ้านรวมไทย ถิ่นที่อยู่ของชาวเขาหลายเผ่า นักท่องเที่ยวสามารถชิมกาแฟสดจากสวน ชมทัศนียภาพของป่าสนสองใบ ดอกไม้เมืองหนาวที่สวยงาม บริเวณบ้านรวมไทยยังมีสถานที่กางเต็นท์และบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย สอบถามรายละเอียดได้ที่ป่าไม้จังหวัดแม่ฮ่องสอน 0 5361 2595

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]
8/12/59

ร่วมแสดงความคิดเห็น