“หลวงพระบาง” เมืองในฝันของคนเดินทาง

หลวงพระบาง อดีตศูนย์กลางของอาณาจักรล้านช้าง นครรัฐในแวดล้อมของขุนเขาและสายน้ำ รุ่งเรืองสง่างามด้วยศรัทธาแห่งพุทธศาสนา ผ่านกาลสมัยด้วยชีพจรชีวิตของตนเอง กระทั่งเมืองแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางผู้ใฝ่ใจจะศึกษาเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่นของลาว ด้วยเพราะความจริงที่ว่า หากจะเรียนรู้ประเทศลาว รู้จักคนลาว ก็ควรจะเรียนรู้เมืองหลวงพระบางเสียก่อน
(จิรนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์)

ชื่อของ “หลวงพระบาง” ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจขึ้นมาทันที หลังจากที่นักเดินทางพากันไปเที่ยวแล้วกลับออกมาเล่าขานบอกต่อกันไม่ขาดสาย ผมเองเคยไปหลวงพระบางอยู่ 2 ครั้งเมื่อหลายปีก่อน แต่หลังจากที่กลับออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับเลยว่า เมืองนี้ไม่ธรรมดา มีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะ และไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกฝรั่งมังค่าถึงได้เข้าไปยังหลวงพระบางกันมากมาย ราวกับว่าพวกเขากำลังเดินทางเข้าไปค้นหาอดีตกันยังไงยังงั้น
จนกระทั่งมีผู้คาดคะเนกันว่า ในอนาคตอีกไม่กี่ปีนักท่องเที่ยวจะหันเหความสนใจไปยังหลวงพระบางมากกว่าเมืองเชียงใหม่บ้านเราเสียอีก

เมืองเล็ก ๆ ในโอบล้อมของขุนเขาทางตอนบนของลาวที่ชื่อ “หลวงพระบาง” ดูเหมือนว่าได้กลายเป็นดินแดนในฝันของคนเดินทางมานานหลายยุคสมัย ด้วยความไร้เดียวสาของเมืองนี้และวิถีชีวิตผู้คนปะปนกับศิลปวัฒนธรรม ยังคงทำให้หลวงพระบาง กลายเป็นรักแรกพบของใครอีกหลาย ๆ คนที่เดินทางมาเยือนเมืองแห่งนี้เป็นครั้งแรก

ความสำคัญของเมืองหลวงพระบาง ไม่ได้อยู่ที่เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อในเรื่องการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ทว่าในอดีตจนถึงปัจจุบันเมืองแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของการเมือง เศรษฐกิจและคมนาคมที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่ง นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางไปเยือนหลวงพระบางเป็นจำนวนมากในแต่ละปีแล้ว นักธุรกิจและเจ้าของกิจการลงทุนต่าง ๆ ก็มักเดินทางไปเมืองหลวงพระบางด้วยเช่นกัน จากอดีตที่การเดินทางไปหลวงพระบางมีความยากลำบาก แต่ปัจจุบันเมื่อการคมนาคมขนส่งมีความทันสมัยและสะดวกสบายขึ้น การไปเยือนหลวงพระบางในวันนี้จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากแต่อย่างใด
ที่นี่ลองมาดูกันว่าเมืองหลวงพระบาง ที่ใคร ๆ พากันร่ำลือว่าสวยงามนักหนา ว่ากันว่าสวยงามและบริสุทธิ์กว่าเชียงใหม่หลายเท่านัก มีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง เริ่มต้นจากเมื่อไปถึงหลวงพระบาง สิ่งแรกที่จะสัมผัสได้ก็คือวิถีชีวิตของคนลาวแห่งเมืองหลวงพระบาง

มรดกล้ำค่าของหลวงพระบางอยู่ที่ความเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา คือมีวัดกระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองไม่ต่ำกว่า 50 วัด สีเหลืองแห่งพุทธศาสนาได้แผ่เข้ามาครอบงำจิตใจของชาวหลวงพระบางมาเป็นเวลาหลายร้อยปี อารยธรรมในดินแดนแห่งนี้จึงมีผลพวงมาจากอิทธิพลของพุทธศาสนา โดยเฉพาะวัดแต่ละวัดนั้นเต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของชาวล้านช้าง ถ้าเราจะพิสูจน์กันง่าย ๆว่า พุทธศาสนาคือแก่นประเพณีวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง หรือไม่ก็ต้องตื่นตอนตีห้าลุกขึ้นมาดูการทำบุญตักบาตรตามริมถนน

ทุก ๆ เช้าชาวหลวงพระบางเกือบทุกครัวเรือนจะพากันออกมารอใส่บาตรพระสงฆ์ที่เดินเรียงแถวมาตามถนนกว่าร้อยรูป ในยามนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่คนหลวงพระบางเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ด้วยรอยยิ้มแห่งการทำบุญ อิ่มเอิบทั้งจิตใจและใบหน้า
แทบไม่น่าเชื่อว่าเมืองเล็ก ๆ ที่มีถนนหลักแค่ 2-3 เส้นทอดผ่านกลางตัวเมือง ทว่ากลับมีวัดจำนวนมากตั้งเรียงรายอยู่ฝั่งถนน หลวงพระบางอาจไม่ใช่เมืองเล็กธรรมดา หากแต่เป็นนครรัฐที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตไว้มากมาย

วัดเชียงทอง ถือได้ว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในหลวงพระบาง วัดนี้มีผู้ให้ชื่อว่าเป็นอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาวโดยแท้ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (ระหว่างปี พ.ศ.2101-2103) ภายในโบสถ์มีพระประธานองค์ใหญ่ลักษณ์งดงามตามแบบศิลปกรรมล้านช้าง ตามเสาและผนังโบสถ์เขียนลวดลายปิดทองบนพื้นรักสีดำเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติทศชาติชาดก ด้านข้างอุโบสถมีหอพระพุทธไสยานสน์เล็ก ๆ ทาพื้นผนังสีชมพู ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปต้นไม้ เป็นภาพเรื่องราวในตำนานพื้นบ้าน สุดยอดพุทธศิลป์สกุลช่างล้านช้างหลวงพระบาง สันนิษฐานว่าคงมีการทำขึ้นใหม่เมื่อครั้งที่มีการซ่อมแซมวัดเชียงทอง ในปี พ.ศ.2471

นอกจากนั้นตามถนนเล็ก ๆ หลังวัดเชียงทองยังมีชุมชนบ้านเรือนที่น่าแวะเยี่ยม บนถนนศรีสว่างวงศ์นั้นยังมีบ้านเรือนในแบบโคโรเนียลสไตล์ผสมผสานระหว่างอารยธรรมล้านช้างกับสถาปัตยกรรมฝรั่งเศส กลางเมืองหลวงพระบางมีภูเขาลูกย่อม ๆ ลูกหนึ่งชื่อ ภูศรี บนยอดประดิษฐาน พระธาตุจอมภูศรี องค์พระธาตุเป็นสีทองผ่องอำไพ ถึงแม้พระธาตุองค์นี้มีอายุไม่น่าเกินหนึ่งศตวรรษ แต่ความโดดเด่นอร่ามเรืองที่สถิตอยู่สูงส่งเหนือสิ่งอื่นใดในหลวงพระบาง ผนวกกับตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุและรอยพระพุทธบาทก็เพียงพอที่จะทำให้พระธาตุองค์นี้มีฐานะเป็นพระธาตุประจำเมืองในทำนองเดียวกับพระบรมธาตุดอยสุเทพแห่งเมืองเชียงใหม่

พระธาตุจอมภูศรี สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอนุรุท กษัตริย์องค์ที่ 56 แห่งอาณาจักรล้านช้าง ในปี พ.ศ.2247 บนยอดเขาเล็ก ๆ สูง 150 เมตร ต่อมาได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2457 องค์พระธาตุฉาบด้วยทองคำ นอกจากพระธาตุจอมภูศรีจะเป็นที่เคารพสักการะของชาวหลวงพระบางแล้ว ข้างบนยังมีหอกลองซึ่งเคยใช้ตีบอกเวลาให้กับชาวหลวงพระบาง ห่างจากพระธาตุไม่ไกลนักบริเวณหน้าผาแคบเป็นที่ตั้งของปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งยังหลงเหลือให้ดูเป็นอนุสรณ์ของสงครามอินโดจีน บริเวณรอบองค์พระธาตุสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองหลวงพระบางได้รอบด้าน

ตรงข้ามกับพระธาตุจอมภูศรีเป็นที่ตั้งของพระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2447 ในสมัยของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ออกแบบโดยนายช่างชาวฝรั่งเศส ต่อมาได้มีการสร้างหลังคายอดปราสาทเพิ่มเติม ทำให้อาคารหลังนี้เป็นการผสมผสานอาคารแบบฝรั่งเศสยุคอาณานิคมกับศิลปะล้านช้างได้อย่างกลมกลืนกัน

ในตัวเมืองหลวงพระบางผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้รถจักรยานเป็นพาหนะ ดังนั้นปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดก็ไม่ต้องพูดถึง มาหลวงพระบางต้องไปชมตลาดเช้า เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวแท้ ๆ แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสินค้าของใช้ทุกชนิดทั้งจากไทย อินโดจีน ของป่าและสินค้าจากชาวบ้าน ที่ตลาดแห่งนี้แม้จะไม่คึกคักวุ่นวายเท่าเชียงใหม่บ้านเราแต่ก็คราคร่ำไปด้วยชาวลาวและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

หลวงพระบางเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่สามารถเดินเที่ยวได้ในวันเดียว ทว่าในวันเดียวนั้นเราจึงสามารถพบเห็นเรื่องราวหลากหลายที่เก็บเกี่ยวเอาไว้ในลิ้นชักแห่งความทรงจำได้แทบไม่พอ หากใครไม่เชื่อลองมาเยือนเมืองหลวงพระบางดู เมืองเล็กที่ไม่ธรรมดา หากแต่เป็นเมืองที่สะสมความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลไว้มากมาย

และจึงไม่น่าแปลกใจที่นครรัฐแห่งนี้ ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ

หลวงพระบาง (Luang Prabang)

ในอดีตเป็นราชธานีที่รุ่งเรืองและเฟื่องฟูที่สุดของอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อเต็มว่า ศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ห่างจากนครเวียงจันทน์ระยะทาง 420 กิโลเมตร หลวงพระบางเป็นเมืองเล็กมีพื้นที่ทั้งหมด 16,875 ตารางกิโลเมตร อยู่ในหุบเขาบริเวณที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำคานไหลมาบรรจบกันพอดี

เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองที่งดงามและมีเสน่ห์ในศิลปะของสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม ประเพณีและขนบธรรมเนียมในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้องค์การยูเนสโก (Unesco) ได้ขึ้นทะเบียนให้เมืองหลวงพระบางเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540

เมืองหลวงพระบางมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 3 แสน 5 หมื่นคน ประกอบด้วย เชื้อสายลาว ลื้อ ภูไท ข่า ม้ง เย้าและอีก้อ ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปีมีอุณหภูมิช่วงเช้าโดยเฉลี่ยประมาณ 10 องศาเซลเซียส

เมืองหลวงพระบาง เป็นเมืองทางตอนบนที่มีความสำคัญของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและสถาปัตยกรรม จึงเป็นตลาดเศรษฐกิจที่มีศักยภาพมากมายที่ทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวและลงทุนทำการค้า

แหล่งท่องเที่ยวในหลวงพระบาง

เนื่องจากเมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ในหุบเขาท่ามกลางธรรมและมีแม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน รวมทั้งในอดีตยังเคยเป็นศูนย์กลางราชธานีของอาณาจักรล้านช้าง จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในหลวงพระบางเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปะของสถาปัตยกรรมในวัดและวังของเจ้ามหาชีวิตลาวเป็นส่วนใหญ่

หมู่บ้านช่างไห ชุมชนริมแม่น้ำโขงที่มีประวัติการขุดพบหม้อไหโบราณอายุกว่า 600 ปี ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงในการผลิตเหล้าพื้นเมือง

หมู่บ้านผานม หมู่บ้านชาวไทลื้อที่มีชื่อเสียงในการทอผ้าลายพื้นเมืองหลวงพระบาง อยู่ห่างจากตลาดขึ้นไปทางเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร

ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำที่ประดิษฐานพระพุทธรูปน้อยใหญ่มากมาย ทั้งที่ทำจากไม้และโลหะสำริด โดยถูกสะสมมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จากผู้ที่มีจิตศรัทธานำมาวางถวาย นอกจากนั้นถ้ำติงแห่งนี้ในอดีตเจ้ามหาชีวิตลาวทุกพระองค์จะต้องเสด็จมาทำพิธีสรงน้ำและฟังธรรมในวันสงกรานต์

น้ำตกตาดกวางสี อยู่ห่างจากหลวงพระบางไปทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร ระหว่างทางจะได้พบหมู่บ้านลาวเทิง ที่ยังคงรักษาการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมเอาไว้เกือบทั้งหมด

จักรพงษ์ คำบุญเรือง
[email protected]

ร่วมแสดงความคิดเห็น