“ป่าขุนแม่กวง”ตัวอย่าง พระราชดำริฯรักษาป่า

สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ 25 มีนาคม 2535 และ 21 มีนาคม 2536 ให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนฯ ขุนแม่กวง
จากพระราชดำริดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินงาน โดยแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มปี 2536-37 มีพื้นที่ดำเนินการด้านทิศเหนือของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้นไปจนจรดขอบอ่างเก็บน้ำแม่กวง รวมเนื้อที่กว่า3หมื่นไร่
ระยะที่ 2 ปี 2537-39 พื้นที่ดำเนินการมีต่อจากระยะที่ 1 ขึ้นไปทางทิศเหนือจนจรดเขตอำเภอแม่แตงและอำเภอพร้าว เชียงใหม่ รวมเนื้อที่ราวๆ 7 หมื่นไร่ ระยะที่ 3 ปี 2539-44 ดำเนินการ ในพื้นที่ส่วนที่เหลือในเขตลุ่มน้ำแม่กวง ประมาณ 245,000 ไร่ ต่อจากขอบเขตระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไปด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ดจนจรดพื้นที่อำเภอสัน กำแพง อำเภอเวียงป่าเป้า เชียงราย และอำเภอแจ้ห่ม ลำปาง
“แนวพระราชดำริที่พระราชทาน ในการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงคือ พิจารณาคัดเลือกพื้นที่เหมาะสมจัดให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการอยู่ก่อนแล้ว ได้ทำกินด้านการเกษตรเพื่อไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม พร้อมปลูกป่าในพื้นที่ถูกทำลาย ฟื้นฟูสภาพแหล่งต้นน้ำลำธาร หามาตรการป้องกันรักษาป่าที่เหมาะสม พร้อมสร้างฝายต้นน้ำลำธารให้กระจายทั่วพื้นที่โครงการ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่า และจัดหาน้ำสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของโครงการตามความเหมาะสม”
การดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการฯ ประสบความสำเร็จน่าพอใจ นอกจากทรัพยากรธรรมชาติจะกลับมาสมบูรณ์ดังเดิมแล้ว สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรป่าขุนแม่กวงยังดีขึ้นอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น