บรรยายพิเศษ “ยุทธศาสตร์การศึกษางานวิจัย” กับความสามารถในการบูรณาการของประเทศ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์การศึกษางานวิจัยกับความสามารถในการบูรณาการของประเทศ” ในการสัมมนาวิชาการและสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ประจำปีการศึกษา 2559 จัดโดยฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายชาญ ตันติธรรมถาวร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ในเรื่องของยุทธศาสตร์ด้านการศึกษานั้น ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการได้วางแผนงานด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฯ โดยมียุทธศาสตร์ที่ต้องดำเนินการ 6 ด้าน คือ 1) ความมั่นคง 2) การสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ 4) การสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 5) การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6) การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธศาสตร์ด้านที่ 4 การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องหลุดพ้นให้ได้ ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมแผนงานที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือในส่วนที่ขาดและสนับสนุนส่วนที่อ่อนแอ เช่น การพัฒนาการศึกษาปฐมวัย โรงเรียนขนาดเล็ก เป็นต้น เพื่อเป็นการลดช่องว่าง (Gap) ด้านการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้ได้มากที่สุด

ในส่วนการวิจัยของประเทศไทย สิ่งแรกคือเราต้องรู้ก่อนว่าประเทศมีปัญหาและมีความต้องการอะไร โดยบทบาทสำคัญอยู่ที่ผู้นำในการที่จะกำหนดยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่ชัดเจน พร้อมกับลำดับความสำคัญ ก่อนถ่ายทอดลงสู่แผนงานและนำไปสู่การปฏิบัติ ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษางานด้านการวิจัยอย่างละเอียดด้วยว่าเรื่องใดทำแล้ว เรื่องใดยังไม่ได้ทำ เพื่อไม่ให้เกิดการทำวิจัยช้ำซ้อน ที่จะเป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เช่นเดียวกับการวิจัยด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดจุดเริ่มต้นที่ตรงกันและมีทิศทางเดียวกันเสียก่อน เพื่อจะได้รู้สถานะว่าเราอยู่ตรงไหน มีปัญหาอะไร จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลพื้นฐานและตั้งคำถามที่ชัดเจน เมื่อนั้นรัฐบาลจึงจะทุ่มทรัพยากรลงไปได้อย่างเต็มที่ พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิจัย เพราะงานวิจัยด้านการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และมีผลต่ออนาคตของประเทศเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ในส่วนของงานวิจัยในยุค Thailand 4.0 ประเทศไทยก็มีนักวิจัยที่มีศักยภาพในการวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ด้านการแพทย์ ฯลฯ แต่หากจะพูดถึงขีดความสามารถการวิจัยที่จะตอบโจทย์การเข้าสู่ Thailand 4.0 เห็นว่ายังไม่เพียงพอ และขาดการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยสู่การเป็นนวัตกรรม (เกิดจากการเรียนรู้ขั้นสูงที่สุดของมนุษย์) ซึ่งนวัตกรรมนี่เองที่จะนำไปสู่เรื่องเชิงพาณิชย์ (Commercialisation)
สิ่งสำคัญคือ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังเช่นประเทศต่าง ๆ ที่สามารถผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเกิดในที่ที่มีคนเก่งอยู่จำนวนมาก และมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่เริ่มต้นวิจัย เพราะภาคเอกชนมีความรู้เชิงพาณิชย์ และรู้ว่าควรผลิตแบบใดจึงจะตรงความต้องการของตลาด หากทำได้เช่นนี้ การดำเนินงานวิจัยของประเทศไทยก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดและตรงกับความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น