ชี้เกษตรพันธะสัญญา เอาเปรียบเกษตรกร

เกษตรพันธะสัญญา-เกษตรครบวงจร หรือ คอนแทรคฟาร์มมิ่ง เป็นชื่อเรียกระบบหรือรูปแบบความสัมพันธ์ทางการผลิตและการตลาดระหว่างบริษัทธุรกิจและเกษตรกรประเภทหนึ่ง

โดยเกษตรกรและบริษัทตกลงที่จะทำการผลิตและซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรระหว่างกันล่วงหน้า โดยทำสัญญาหรือตกลงด้วยวาจา(ซึ่งมีน้อยมาก)

นอกจากข้อตกลงที่จะซื้อและขายแล้ว ยังประกอบไปด้วยเงื่อนไขอื่นๆ ได้แก่ เงื่อนไขการรับซื้อ (เช่น กำหนดและคำนวณราคารับซื้อ การกำหนดคุณภาพ เป็นต้น) และเงื่อนไขการผลิต (เช่น วิธีการดูแลรักษา สินเชื่อ แหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ วัตถุดิบ หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ)

เกษตรพันธะสัญญา เป็นรูปแบบการผลิตที่ได้แนวคิดมาจากการผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในการเลี้ยงไก่แล้วขยายไปยังภาคปศุสัตว์ ภาคการเกษตร ภาคการประมงอื่นๆมากมาย
ตลอดจนมีการส่งเสริมอย่างจริงจังโดยบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6

มีนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาวิจัยและนำเสนอความคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “เกษตรพันธะสัญญา” ลงพื้นที่คลุกคลีกับเกษตรกรหลายกลุ่ม อาทิ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ชาวไร่อ้อย ชาวไร่ข้าวโพด ฯลฯ

พบข้อสรุปในระบบพันธสัญญา คือ เกษตรกรตกอยู่ในภาวะ มีหนี้สินล้นพ้นตัว เครียดวิตกจริต อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และไร้อำนาจในการต่อรอง

ปัจจุบัน มีเกษตรกรไม่น้อยเข้าร่วมระบบเกษตรพันธะสัญญากับเอกชนรายใหญ่ๆ โดยมีเหตุผลต้องการรายได้เสริมจากการทำไร่ ทำนา หรือ ต้องการหาอาชีพที่มั่นคง ไม่ต้องการอพยพไปทำงานในเมือง ไม่มีทุนและไม่มีตลาด ได้รับการส่งเสริมและโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีและผลตอบแทนที่จะได้รับ

มองผลตอบแทนเป็นตัวตั้ง มากกว่าพิจารณาถึงองค์ประกอบในภาคการผลิตที่มีกระบวนการซับซ้อนและมีเงื่อนไข
กลไกและเงื่อนไขภายใต้เกษตรพันธะสัญญา: จากงานวิจัย เอกชนจะมีอำนาจในการรับซื้อและห้ามเกษตรกรขายให้ผู้อื่น หากฝ่าฝืนจะมีการหยิบเอาข้อสัญญามาบีบบังคับฟ้องร้อง หากสินค้าล้นตลาดก็ไม่รับซื้อ ให้เกษตรกรดิ้นรนหาตลาดหรือกดดันให้ภาครัฐฯ เข้ามาแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญาจึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ

ร่วมแสดงความคิดเห็น